คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า การดำเนินคดีอาญากับจำเลยนายอำเภอสั่งในตำแหน่งนายอำเภอไม่ได้ เพราะสุขาภิบาลเป็นนิติบุคคล ต้องสั่งในนามประธานกรรมการสุขาภิบาล ดังนี้ เป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายจำเลยย่อมฎีกาได้
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นจัตวา ดำรงตำแหน่งเสมียนตราอำเภอและโดยคำสั่งทางราชการให้ดำรงตำแหน่งและหน้าที่กรรมการสุขาภิบาลอีกด้วย หากฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินไว้ แล้วไม่ลงบัญชี เป็นเหตุให้เงินขาดหายไปจากบัญชี ซึ่งถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ เบียดบังเอาทรัพย์ไปเมื่อจำเลยไม่ใช้เงินที่ขาดหายไป อันอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งให้นายอำเภอดำเนินคดีกับจำเลย นายอำเภอได้สั่งให้ปลัดอำเภอไปแจ้งความดำเนินคดีก็ย่อมกระทำได้เพราะพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 นายอำเภอเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง ที่นายอำเภอสั่งให้ปลัดอำเภอไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย จะถือว่านายอำเภอไม่ใช่สั่งในตำแหน่งประธานกรรมการสุขาภิบาลด้วยหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ชั้นจัตวา สังกัดกรมมหาดไทย ดำรงตำแหน่งเสมียนตราอำเภอศรีมหาโพธิ์ และโดยคำสั่งทางราชการให้ดำรงตำแหน่งและหน้าที่กรรมการสุขาภิบาลและสมุห์บัญชีสุขาภิบาลศรีมหาโพธิ์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยมีอำนาจและหน้าที่ทำ จัดการและรักษาทรัพย์สินเกี่ยวกับเงินค่าภาษีป้าย ค่าธรรมเนียมอาชญาบัตร ค่าน้ำ ฟืน ไฟ และโคกระบือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสะสมอาหาร ค่าธรรมเนียมประกอบการค้า จากประชาชนที่มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและขอรับใบอนุญาตในการประกอบกิจการนั้น ๆ ในเขตสุขาภิบาล กับมีหน้าที่เรียก ขอรับเงินส่วนแบ่งจากเงินค่าภาษีอากรของรัฐเป็นเงินรายได้บำรุงสุขาภิบาล เป็นค่าเบี้ยประชุมกรรมการสุขาภิบาล และลงบัญชีเงินสดรายรับรายจ่ายประจำวันทันทีเมื่อจำเลยรับเงินมาจากที่ต่าง ๆ และนำส่งเป็นผลประโยชน์ของสุขาภิบาลตรวจตราลงบัญชีกระแสรายวันให้ถูกต้อง เก็บรักษาเงินสดให้ตรงกับยอดเงินในบัญชีเงินสดรายวัน ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำเลยได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยโดยทุจริตเบียดบังยักยอกเงินไปเป็นผลประโยชน์ อันเป็นความเสียหายแก่รัฐและสุขาภิบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๐๔๐.๖๔ บาท
ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗,๑๕๑,๑๕๓,๑๕๗ พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๗,๙,๑๐ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๔,๐๔๐ บาท ๖๔ สตางค์ แก่สุขาภิบาลด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือน และมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวตามฟ้องจริง แต่จำเลยไม่ได้กระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังว่าจำเลยได้รับเงินไว้แล้วไม่ลงบัญชี เป็นเหตุให้เงินขาดหายไปจากบัญชี ๓,๙๐๘.๔๒ บาท การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ เบียดบังเอาทรัพย์ไป และจ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่าย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๑๕๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๙ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ลงโทษจำคุก ๕ ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๓,๙๐๘.๔๒ บาท แก่สุขาภิบาลอำเภอศรีมหาโพธิ์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยโดยเห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินคดีอาญากับจำเลย นายอำเภอสั่งในตำแหน่งนายอำเภอไม่ได้เพราะ(สุขาภิบาล) เป็นนิติบุคคล ต้องสั่งในนามประธานกรรมการสุขาภิบาล เป็นปัญหาข้อกฎหมายให้รับฎีกาจำเลยข้อนี้ และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยไม่ใช้เงินที่ขาดหายไปจากบัญชีอันอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ผู้ว่าการจังหวัดจึงสั่งให้นายอำเภอดำเนินคดีกับจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า เงินที่ขาดหายไปจากบัญชีเป็นเงินของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบในราชการของจังหวัดและอำเภอ มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินอันเป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐบาลในจังหวัดปฏิบัติและควบคุมดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดซึ่งรวมถึงสุขาภิบาลที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยส่วนนายอำเภอนั้นมีอำนาจและหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในอำเภอตามกฎหมายและตามคำสั่ง คำแนะนำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัด ควบคุมดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในอำเภอ และตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. ๒๔๙๕ นายอำเภอเป็นกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีหน้าที่ควบคุมดูแลสุขาภิบาลในจังหวัดให้ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย เป็นที่เห็นได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ดำเนินคดีกับจำเลยผู้กระทำความผิดเรื่องนี้ได้ และนายอำเภอก็มีอำนาจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยได้เช่นเดียวกันในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง แม้นายอำเภอจะดำเนินคดีกับจำเลยในตำแหน่งนายอำเภอดังที่จำเลยโต้เถียง ตำแหน่งนายอำเภอก็เป็นตำแหน่งประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่งด้วย ที่นายอำเภอสั่งให้ปลัดอำเภอไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย จะถือว่านายอำเภอไม่ใช่สั่งในตำแหน่งประธานกรรมการสุขาภิบาลด้วยหาได้ไม่ พิพากษายืน

Share