คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรือที่เดินทวนน้ำต้องเดินแอบฝั่งตะวันออกตาม พระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456 เรือที่เดินตามน้ำเดินกลางแม่น้ำ เวลาหลีกกันให้หลีกทางขวาตามพระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกัน 2456เรือที่เดินผิดทางเป็นเหตุให้ชนเรือที่เดินถูกทาง ต้องรับผิดฐานละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเรือยนต์ชื่อเฉลิมผล โจทก์ที่ 2 เป็นนายเรือ มีหน้าที่ควบคุมเรือลำนี้ ซึ่งโจทก์ใช้รับจ้างบรรทุกสินค้าและลากจูงเรือขึ้นล่องระหว่าง กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิจิตร เป็นประจำ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือยนต์ชื่อเม่งกวงจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายควบคุมเรือเม่งกวงของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2491เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 2 เป็นนายท้ายควบคุมเรือยนต์เม่งกวงวิ่งล่องตามน้ำมาในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังอันควรเป็นวิสัยของปกติชน เป็นเหตุให้ไปโดนเรือยนต์เฉลิมผลที่มีโจทก์ที่ 2 เป็นนายท้ายควบคุมวิ่งอยู่ จมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนหน้าท่าราชวรดิษฐ์ ตำบลศิริราชพยาบาล อำเภอบางกอกน้อยจังหวัดธนบุรี ทั้งนี้โดยความผิดและความละเลยของจำเลยที่ 2 ที่ไม่เดินเรือให้ถูกต้องตามกฎว่าด้วยการเดินเรือ และไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย 5 รายการ รวมเป็นค่าเสียหาย 142,202 บาท 84 สตางค์ โจทก์งมสินค้าและสิ่งของต่าง ๆ ได้คืนรวมราคา 5,386 บาท โจทก์ยังคงเสียหาย 136,816 บาท 84 สตางค์ แต่โจทก์ยังสงวนสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก หากการซ่อมแซมเรือต้องเสียเวลาเกินกว่า 2 เดือน จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบใช้ให้แก่โจทก์ เพราะเป็นความผิดและความละเลยของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือยนต์เม่งกวงนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดชอบกับจำเลยที่ 2 โจทก์ทวงถามให้ชำระค่าเสียหายแล้วจำเลยไม่ยอมใช้ให้จึงขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 136,816 บาท 84 สตางค์ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้ให้แล้วเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือยนต์เม่งกวงจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายควบคุมเรือเม่งกวง ตามวันเวลาโจทก์หา จำเลยที่ 2 เป็นนายท้ายเรือยนต์เม่งกวงล่องมาตามน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจริง โดยมีเรือเอี้ยมจุ๊นลำหนึ่งพ่วงมาด้วย แต่ปฏิเสธว่ามิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อหรือเดินเรือผิดกฎว่าด้วยการเดินเรือหรือปฏิบัติผิดกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกันดังโจทก์อ้างประการใดเลย ความจริงจำเลยที่ 2 ได้เดินเรือเม่งกวงล่องตามน้ำไปด้วยความระมัดระวังถูกต้องตามกฎข้อบังคับของการเดินเรือ และขณะที่เรือเม่งกวงของจำเลยได้ล่องมาดังกล่าว จวนจะถึงท่าราชวรดิษฐ์ก็เห็นเรือเฉลิมผลของโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 เป็นนายท้ายจูงเรือพ่วงแล่นสวนทางมาโดยเร็วขนานกันมากับเรือแท๊กซี่ลำหนึ่ง ซึ่งมีเรือพ่วงมาด้วย เรือแท็กซี่นั้นแล่นมาทางซ้ายของเรือเม่งกวง ส่วนเรือเฉลิมผลของโจทก์แล่นทวนน้ำมาทางขวาของเรือเม่งกวง พอเรือเฉลิมผลแล่นมาถึงเรือเม่งกวงก็เบนหัวเรือเข้ามาทางฝั่งท่าราชวรดิษฐ์แล้วชนข้างเรือด้านขวาของเรือเม่งกวงเข้าเต็มแรงเรือเม่งกวงหลบไม่ทัน เนื้อไม้หัวเรือเฉลิมผลแทงทะลุเข้าไปในเรือเม่งกวงถูกกงอันหนึ่งหัก ทำให้เรือเม่งกวงของจำเลยเสียหายส่วนเรือเฉลิมผลนั้น เนื่องจากได้เข้ามาชนเต็มแรงและเป็นเรือบรรทุกข้าวติดเครื่อง หัวเรือหลุด น้ำเข้าเรือจึงจมค่าเสียหายของโจทก์จะจริงประการใดจำเลยไม่ทราบ ถึงแม้จะเสียหายจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด เพราะมิใช่ความผิดของจำเลย เนื่องจากเรือเฉลิมผลชนเรือเม่งกวงของจำเลยที่ 1 เสียหาย คือค่าซ่อมแซมเรือ 3,465 บาท กับค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของคนเรือจำเลยที่ 1 ที่ต้องหยุด เพราะต้องซ่อมแซมเรือ คิดตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2491 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2491 เป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 1,500 บาท รวมค่าเสียหาย2 จำนวนเป็นเงิน 4,965 บาท และค่าเสียหายอื่น ๆ ที่จำเลยขอสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่โจทก์อีกต่อไป โจทก์ที่ 2 ประมาทเลินเล่อให้เกิดเรือชนกัน ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ในฐานะเป็นเจ้าของเรือยนต์เฉลิมผล และเป็นนายจ้างโจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดร่วมด้วย จำเลยเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่ยอม จึงขอฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้ง 2 ร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยเป็นเงิน 4,965 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 1/2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จและขอให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้งว่าเหตุที่เรือชนกันมิใช่ความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 2 แต่เป็นเพราะความประมาทความผิดและความละเลยของจำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎว่าด้วยการเดินเรือและกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน จำเลยไม่เสียหายถึง 4,965 บาท ถึงแม้จะเสียหายโจทก์ก็ไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และขอถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำให้การแก้ฟ้องแย้งด้วย

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วฟังว่า วันเกิดเหตุเรือของโจทก์พ่วงเรือ 1 ลำ แล่นทวนน้ำมาทางหน้าท่าราชวรดิษฐ์ เรือจำเลยแล่นตามน้ำมาเรือ 2 ลำนี้ได้ชนกัน เรือโจทก์หัวหลุดจมลง เรือจำเลยกราบขวาตอนหัวเรือแตก เหนือจากพื้นน้ำประมาณ 1 คืบ มีรอยถูกชนทะลุ มีเศษไม้ของเรือเฉลิมผลปักอยู่ เรือโจทก์บรรทุกสิ่งของมาเพียบ เรือโจทก์แล่นมาตามริมฝั่งน้ำเพราะแล่นทวนน้ำ และงมเรือโจทก์ได้ห่างฝั่งประมาณ 20 เมตร ไม่เชื่อว่าเรือโจทก์จะแกล้งแล่นเข้าชนเรือจำเลย แม้จะปรากฏว่าหัวเรือโจทก์ชนเรือจำเลยทางขอบหัวทางกราบขวาก็จริง เหตุเนื่องมาจากเรือจำเลยเดินผิดทางตามมาตรา 68 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2477 ฝ่ายจำเลยเดินตามน้ำ แต่หาได้เดินกลางน้ำไม่ ขณะที่เรือจะชนกัน การที่เรือจำเลยหลบไปทางซ้ายจนถูกชนทางกราบขวาก็เป็นการกระทำผิดกฎการเดินเรืออีกด้วย จำเลยเดินผิดทางและเป็นส่วนใหญ่ของเหตุที่ได้เกิดเรือชนกันขึ้น ความเสียหายในเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุและเป็นความประมาทของจำเลยโดยตรง จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์มิได้กระทำละเมิดต่อจำเลย พิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย128,956 บาท 84 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 1/2 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียม 2,500 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วไม่เชื่อว่า เรือจำเลยจะตัดหน้าไม่ให้เรือโจทก์หลีกไปทางขวาดังโจทก์อ้าง กรณีน่าเชื่อดังจำเลยกล่าวยิ่งกว่าว่าเรือจำเลยแล่นล่องน้ำมาระหว่างเรือแท๊กซี่และเรือโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โดยเรือโจทก์อยู่ทางขวาของเรือจำเลย หัวเรือโจทก์จึงได้ชนข้างขวาของหัวเรือจำเลย เรือโจทก์ไม่ได้แล่นชิดแนวของทางเรือโจทก์เช่นกัน จะถือว่าเป็นความผิดของจำเลยฝ่ายเดียวหาได้ไม่ เรือจำเลยเป็นฝ่ายล่องตามน้ำกำลังไหลเชี่ยวย่อมยากที่จะเปลี่ยนแนว เพราะมีเรือพ่วงมาด้วยเรือโจทก์เป็นฝ่ายแล่นทวนน้ำไม่ควรจะเข้าไปตัดหน้าเรือจำเลยที่กำลังแล่นล่องตามน้ำซึ่งกำลังไหลเชี่ยวอยู่นั้น การที่เรือโจทก์ขืนพยายามจะตัดหน้าเข้าทางขวาของเรือจำเลย จึงเป็นข้อใกล้กับเหตุที่ทำให้เรือชนกันยิ่งกว่า จำเลยไม่ควรรับผิดในความเสียหายของโจทก์ ในข้อค่าเสียหายของจำเลยนั้นพึงพิจารณาเฉพาะจำนวนที่จำเลยฟ้องแย้งสำหรับค่าซ่อมแซมที่จำเลยเรียกร้องมานั้นเกินกว่าที่กรมเจ้าท่าได้สั่งให้ซ่อมแซมด้วยไม่ใช่เสียหายโดยตรงจากการชนกัน จำเลยถือโอกาสซ่อมแซมการเสื่อมเสียเพราะการใช้ธรรมดาไปด้วย ควรคิดให้แต่เฉพาะตามเอกสารหมาย ล.3 จำนวน 1,375 บาท ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของคนเรือระหว่างหยุดซ่อมแซม 1,500 บาท โจทก์เองก็ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างเหมือนกัน เมื่อการที่เรือชนกันเป็นเพราะโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังใกล้กับเหตุ ต้องถือว่าโจทก์ละเมิดควรรับผิดพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 2,875 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 1/2 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินแก่จำเลยเสร็จ และให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 2 ศาล ค่าทนายความอีก 4,500 บาทด้วย แต่ค่าขึ้นศาลให้โจทก์ใช้แก่จำเลยเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงของทนายโจทก์จำเลย ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว ทางพิจารณาได้ความว่า เมื่อวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19.00 น. เรือยนต์ ชื่อเฉลิมผลของโจทก์บรรทุกของเพียบ และจูงเรือพ่วง 1 ลำ แล่นทวนน้ำมาทางหน้าท่าราชวรดิษฐ์เรือยนต์ชื่อเม่งกวง ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายจูงเรือพ่วง 1 ลำแล่นตามน้ำมา แล้วเรือยนต์ทั้งสองลำได้ชนกัน เรือโจทก์หัวหลุดจมลง เรือจำเลยทางกราบขวาตอนหัวเรือแตก เหนือพื้นน้ำประมาณ 1 คืบมีรอยถูกชนทะลุ เศษไม้ของเรือเฉลิมผลปักติดอยู่ เรือโจทก์บรรทุกสิ่งของมาเพียบ และเรือที่โจทก์จูงพ่วงมาก็บรรทุกสิ่งของเพียบเหมือนกัน

ข้อที่จะต้องพิจารณามีว่า ขณะที่ชนกันนั้นเรือโจทก์จำเลยแล่นมาอย่างไร และฝ่ายใดปฏิบัติการอย่างใด

ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า เรือโจทก์เป็นเรือข้างกระดาน วางเครื่องยนต์ถือท้ายในเก๋งหัวเรือ ค่ำนั้นได้แล่นขึ้นทวนน้ำมาจากเชิงสะพานพุทธฯห่างฝั่งพระนครประมาณ 30 เมตร เรือโจทก์แล่นตามเรือแท๊กซี่ซึ่งโยงเรือมาลำหนึ่งวิ่งทวนน้ำนำหน้าเรือโจทก์ ท้ายพ่วงเรือนั้นห่างหัวเรือโจทก์ 20 เมตร เรือแท๊กซี่วิ่งห่างจากฝั่งระดับเดียวกับเรือโจทก์ พอเลยท่าราชวรดิษฐ์ โจทก์มองเห็นแสงไฟเรือจำเลยซึ่งล่องมาจะสวนไปทางใต้เมื่อแรกเห็นห่างกันสัก 40 เมตร เรือของจำเลยห่างฝั่งพระนครประมาณ 40 เมตร โจทก์เบนหัวเรือหลบเข้าริมฝั่ง เรือของจำเลยแล่นผ่านเฉียงมาทางพระนครเรื่อยเข้ามาเรือโจทก์ก็หลีกไปทางอื่นไม่พ้น เรือจำเลยจึงโดนเรือโจทก์ตรงที่โดนกันนั้นห่างตลิ่งฝั่งพระนคร 15 เมตร หัวเรือของโจทก์ขาดกระเด็นน้ำเข้าเรือ โจทก์นำเรือเข้าเกยตลิ่งแต่ผูกเรือไม่อยู่เรือโจทก์เลยไหลลงมาข้างเรือดำน้ำชายฝั่ง และจมลงห่างตลิ่ง20 เมตร ซึ่งภายหลังทำการกู้เรือขึ้นได้จากที่ตรงนั้น เมื่อเรือโดนกันแล้ว เรือของโจทก์อยู่ได้ประมาณ 2 นาทีก็จม

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า เรือของจำเลยเป็นเรือหัวแหลม ลักษณะเป็นเรือทะเล ขนาดราว 35 ตัน มีกำลัง 40 แรงม้า ที่ถือท้ายอยู่กลางลำในค่ำวันนั้นได้แล่นล่องน้ำไปทางใต้ โยงเรือเอี้ยมจุ๊น 1 ลำแล่นห่างตลิ่งฝั่งตะวันออกประมาณ 70 เมตร เมื่อจวนจะถึงท่าช้างเห็นเรือ 2 ลำแล่นทวนน้ำขึ้นมา ลำหนึ่งเป็นเรือแท็กซี่จูงเรือต่อเล็ก ๆ แล่นมาทางริมตลิ่งด้านตะวันออก ห่างตลิ่งประมาณ 10 หรือ 15 วา อีกลำหนึ่งคือเรือโจทก์แล่นมาระดับราวกลางสายน้ำ คือราว150 เมตร เรือโจทก์กับเรือแท๊กซี่แล่นขนานกันมา ห่างกันราว 100 เมตร เห็นทีแรกเรือโจทก์กับเรือแท๊กซี่ห่างเรือจำเลยประมาณ 60-70 วา ครั้นใกล้เข้ามาประมาณ 30 วา เรือจำเลยกับเรือแท๊กซี่ใกล้จะสวนกัน เรือโจทก์ปักเข้าหาริมตลิ่งทางตะวันออก จำเลยชักแตรให้เรือโจทก์รู้ว่าเรือจำเลยจะไปทางซ้าย คือวิ่งไปตามทางเดิม เรือโจทก์ยังแล่นพุ่งตรงเข้าหาตลิ่งด้านตะวันออกเช่นเดิมจำเลยตีระฆังเบาเครื่อง เป่าแตร 2 ทีเรือโจทก์ตรงเข้าชนเรือจำเลยตอนหัวเรือโดยแรง แล่นเลยไปชนเชือกเรือแท๊กซี่ซึ่งโยงเรือพ่วงเชือกขาด แล้วแล่นไปชนตลิ่งข้างโป๊ะ แล้วจมอยู่ใต้เรือดำน้ำชื่อสินสมุทร์ซึ่งจอดอยู่ริมตลิ่ง

ศาลนี้ได้พิจารณาคำพยานและเหตุผลโดยตลอดแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเรือโจทก์แล่นมาริมฝั่งพระนครคือฝั่งด้านตะวันออก โดยเหตุดังต่อไปนี้

(1) กฎหมาย (พระราชบัญญัติเดินเรือน่านน้ำสยาม มาตรา 52และ มาตรา 68 ซึ่งแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2477) บังคับให้โจทก์ผู้เดินเรือทวนน้ำเดินแอบฝั่งด้านตะวันออก โจทก์น่าจะเดินแอบฝั่งด้านตะวันออกดังคำเบิกความของพยานโจทก์

(2) ถ้าจะฝ่าฝืนกฎหมาย ออกไปเดินกลางร่องน้ำ ก็ฝ่าฝืนต่อกฎแห่งธรรมชาติอีกด้วย เพราะจะต้องทวนกระแสน้ำแรงจัดลำบากต่อการเดินเรือสู้เดินริมตลิ่งไม่ได้ กระแสน้ำไหลอ่อน เรือเดินสะดวกกว่า

(3) เรือโจทก์บรรทุกของเพียบ ทั้งเรือที่พ่วงมาก็บรรทุกสิ่งของเพียบเหมือนกัน นับว่าเป็นเรือหนัก เรือของโจทก์ก็เป็นเรือเล็ก และต้องเดินทวนน้ำด้วยย่อมแล่นช้า จะแล่นเร็วอย่างฝ่ายจำเลยว่า ไม่น่าเชื่อ

(4) เมื่อเรือโดนกัน หัวเรือของโจทก์หลุดขาดกระเด็นไป น้ำเข้าเรือทันที เรือก็บรรทุกหนักเพียบน้ำก็เข้า หัวเรือก็ไม่มี จะแล่นไปไกลได้อย่างไร ถ้าอยู่กลางสายน้ำแล้ว ย่อมไม่สามารถจะแล่นเข้าเกยตลิ่งได้ ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่าเรือของโจทก์เดินอยู่ริมฝั่ง จึงพยายามเข้าเกยฝั่งได้แต่ผูกเรือไว้ไม่ได้ โดยเชือกขาด เรือจึงเลื่อนจากข้างตลิ่งลงน้ำลึก

(5) เมื่อมีการกู้เรือของโจทก์ก็ได้ความว่า เรือของโจทก์จมอยู่ห่างฝั่งราว 20 เมตร สมกับคำพยานของโจทก์ว่า เรือของโจทก์เดินแอบข้างฝั่ง

จึงเห็นว่าเรือของโจทก์เดินมาช้า ๆ และถูกทาง

ส่วนเรือของจำเลยนั้นเดินตามน้ำ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 ซึ่งแก้ข้อความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ. 2456บัญญัติว่า “บรรดาเรือที่เดินตามน้ำ ให้เดินกลางแม่น้ำ”

สายกลางน้ำตรงนั้นมีระยะมาถึงฝั่งตะวันออกประมาณ 150 เมตรตามคำของฝ่ายจำเลยเองก็ยอมรับว่าไม่ได้เดินกลางแม่น้ำ เรือจำเลยแล่นล่องน้ำมาห่างตลิ่งตะวันออกประมาณ 70 เมตร ซึ่งมิใช่เป็นทางเดินของฝ่ายตน เป็นการเดินผิดทางอยู่เป็นประการแรกแล้ว

ขณะเมื่อเรือจะโดนกัน น่าเชื่อตามคำพยานว่า เรือของโจทก์จำเลยแล่นตรงจะเข้าหากัน เรือของโจทก์แลเห็นโคมไฟข้าง ๆ เรือของจำเลยทั้งสองดวง ถ้าเรือไม่ตรงเข้าหากันก็ย่อมจะเห็นดังนั้นไม่ได้ เพราะข้างเรือบังโคมไฟและผลที่สุดหัวเรือก็โดนกัน

เรื่องหลีกเรือกัน พระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกัน พ.ศ. 2456 มาตรา 18 บัญญัติว่า “เมื่อเรือกลไฟสองลำแล่นตรงหรือเกือบตรงมาจะสวนกันเป็นที่น่ากลัวจะโดนกัน ก็ให้เรือทั้งสองลำถือท้ายเลี่ยงไปทางขวาของตนทั้งคู่”

ได้ความว่า ขณะนั้นฝ่ายโจทก์พยายามหลีกขวา แต่ฝ่ายจำเลยว่าจำเลยเดินตรงไปตามเดิม หัวเรือของโจทก์ได้โดนหัวเรือของจำเลยทางแคมข้างขวา ผลของการณ์แสดงว่า เรือของจำเลยอยู่ด้านริมฝั่งมากกว่าของโจทก์เล็กน้อย ถ้าจำเลยหลีกไปทางขวาของตนเรือก็อาจไม่โดนกัน เรียกได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกัน

รวมความว่า จำเลยเดินเรือผิดทางที่กฎหมายบัญญัติไว้ ครั้นเมื่อเรือจะโดนกัน จำเลยก็มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกัน ส่วนโจทก์เดินถูกทาง และปฏิบัติตามกฎหมายคดีฟังได้ว่าเหตุที่เรือโดนกันเป็นเพราะจำเลยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งเป็นฝ่ายจะต้องรับผิด

ในเรื่องค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์นั้น โจทก์นำสืบพยานบุคคลและเอกสารว่า ได้เสียหายไปตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องและขาดผลประโยชน์กำไร รายได้เดือนละ 5,000 บาทเศษ คิดจำนวน 2 เดือนเป็นเงิน 10,000 บาทเศษ โจทก์ฟ้องมา 17,860 บาทมากไปควรลดลงเป็นจำนวน 10,000 บาท ตามที่ได้ความในการพิจารณาเมื่อรวมกับค่าเสียหายของทรัพย์สินจึงเป็นจำนวนเงิน 128,956 บาท 84 สตางค์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ให้แก่โจทก์ชอบแล้ว

จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดียืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนาย3 ศาลเป็นเงิน 7,000 บาทให้แก่โจทก์

Share