คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ที่ห้ามมิให้ยึดซ้ำนั้น จะต้องเป็นการยึดทรัพย์ซ้ำกันในระหว่างเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษา ด้วยกันในทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการที่เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรยึดไว้ก่อนอันเป็นการยึดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12นั้น ไม่ใช่เป็นการยึดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำการยึดได้ไม่เป็นการยึดซ้ำและการที่เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรทำการยึดก็ไม่ทำให้ทรัพย์ที่ยึดกลายเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยึดยังเป็นของจำเลยจนกว่าจะได้ขายทอดตลาดไป ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เป็นแต่เพียงให้อำนาจพิเศษแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอที่จะยึดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากรเพื่อขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาลเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อยึดมาแล้วมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ทำการยึดหรือห้ามศาลไม่ให้สั่งขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ฉะนั้น เมื่อทรัพย์ที่ยึดไว้ยังไม่ได้ทำการขายทอดตลาดไป เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ย่อมทำการยึดเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาลได้ ส่วนสิทธิของกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างมีอยู่อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้

ย่อยาว

กรณีเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4096 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จำนองเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษากองหมายรายงานต่อศาลแพ่งว่า ที่ดินนั้นนายอำเภอบางกอกใหญ่ยึดไว้ก่อนแล้ว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษี จำเลยที่ 1 ฟ้องกรมสรรพากรข้อหาละเมิด ศาลแพ่งสั่งระงับการขายไว้จนกว่าคดีนั้นถึงที่สุด กองหมายขอให้กรมสรรพากรส่งโฉนดเลขที่ 4096 มายังกองหมายกรมสรรพากรไม่ส่งขอให้ศาลแพ่งแจ้งไปยังกรมสรรพากรส่งโฉนดมายังกองหมาย ศาลแพ่งแจ้งไปแล้ว

กรมสรรพากรยื่นคำร้องคัดค้านว่าเป็นการยึดซ้ำ ทรัพย์สินที่ถูกยึดตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งต้องห้ามมิให้ยึด ขอให้มีคำสั่งงดเรียกโฉนด

ศาลแพ่งเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยึดซ้ำกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของจำเลยยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง

ผู้ร้องคัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องคัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ที่ห้ามมิให้ยึดซ้ำนั้น จะต้องเป็นการยึดทรัพย์ซ้ำกันในระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน ในทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการที่นายอำเภอบางกอกใหญ่ได้ยึดที่ดินรายนี้ไว้ก่อนนั้นเป็นการยึดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ไม่ใช่เป็นการยึดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำการยึดได้ ไม่เป็นการยึดซ้ำ และการที่นายอำเภอบางกอกใหญ่ทำการยึดที่ดินรายนี้ก็ไม่ทำให้ทรัพย์ที่ยึดกลายเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยึดยังเป็นของจำเลยที่ 1 จนกว่าจะได้ขายทอดตลาดไปและประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ก็เป็นแต่เพียงให้อำนาจพิเศษแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอที่จะยึดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากรเพื่อขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาลเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อยึดมาแล้วมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ทำการยึดหรือห้ามศาลไม่ให้สั่งขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ฉะนั้น เมื่อทรัพย์ที่ยึดไว้ยังไม่ได้ทำการขายทอดตลาดไป เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ย่อมทำการยึดเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาลได้ ส่วนสิทธิของผู้ร้องคัดค้านในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างมีอยู่อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามบทกฎหมายที่บัญญัติไว้

พิพากษายืน

Share