แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความย่อมตั้งประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (5), 237 และ 240 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุอื่น แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี จึงมีประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ในชั้นอุทธรณ์ ไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ขึ้นวินิจฉัยด้วยจึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีรถหายแก่ผู้เอาประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และ 880 วรรคหนึ่ง ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งคืนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแก่โจทก์ได้
โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากพนักงานของจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายเป็นมูลละเมิดต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2538 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ – 2608 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัย แก่โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินแทน 280,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ – 2608 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชำระราคาแทนเป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินไปตามสัญญาประกันภัย ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ – 2608 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางประทุม ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2538 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัย นางประทุมขับรถยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตหรือศูนย์การค้ารังสิตพลาซ่าของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ดูแลรักษาความปลอดภัยและจัดการจราจรในศูนย์การค้า และอยู่ในระยะเวลาจ้าง ตามสัญญาจ้างเหมาพนักงานรักษาความปลอดภัยและจัดการจราจร รถยนต์สูญหายไปในวันเดียวกันโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายแก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยไปเป็นเงิน 280,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2538 แล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี ขึ้นวินิจฉัยเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความละเมิด 1 ปี หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ เพียงแต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์เท่านั้น ย่อมไม่มีประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ในชั้นอุทธรณ์ เพราะประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว กับฎีกาว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การชัดแจ้งว่าเหตุละเมิดคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2538 โจทก์ทราบและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2538 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 จึงขาดอายุความ 1 ปี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาตามสัญญาจ้างเหมาพนักงานรักษาความปลอดภัยและจัดการจราจรที่จำเลยที่ 1 ทำกับจำเลยที่ 2 และคดีโจทก์ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเก็บค่าฝากรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชำระราคาแทน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ดูแลรถ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหาย และคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์เพราะศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดและคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การที่นางประทุม ผู้เอาประกันภัยนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการฝากทรัพย์ แต่การที่รถสูญหายเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างของพนักงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดฐานละเมิด จำเลยที่ 2 ก็เป็นนายจ้างหรือตัวการจัดการจ้างหรือควบคุมพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย แต่คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความละเมิด 1 ปี และเนื่องจากมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ประเด็นเรื่องอายุความแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความย่อมตั้งประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (5), 237 และ 240 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี จึงมีประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ในชั้นอุทธรณ์ ยังไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ขึ้นวินิจฉัยด้วย จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินแทน ซึ่งการให้คืนรถเป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืน กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความฟ้องร้องเอาไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี นั้น เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในค่าสินไหมทดแทนเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และ880 วรรคหนึ่ง ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งคืนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยแก่โจทก์ได้ จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองส่งคืนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยอันจะมีอายุความ 10 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา แต่การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากพนักงานของจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหาย เป็นมูลละเมิดต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2538 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 พ้น 1 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ดูแลรถ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 ยกอายุความละเมิด 1 ปี ขึ้นต่อสู้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย โจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์เพราะเหตุคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี ตามข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ