แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยตามมูลสัญญาเช่า โดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นมูลละเมิด โดยอ้างว่าศาลฎีกาได้พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ในคดีอีกเรื่องหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านอีกต่อไป ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเรื่องไม่เหมือนกันโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีที่จำเลยฟ้องขอให้โจทก์โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลย ว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ผลแห่งคำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยผู้เป็นคู่ความ จำเลยจะอ้างในคดีนี้อีกว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านพิพาท การที่จำเลยอยู่ต่อมาจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
โจทก์จำเลยเป็นความแย่งกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทกันตลอดมากล่าวคือ พ.ศ. 2509 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย พ.ศ. 2510 จำเลยกลับฟ้องให้โจทก์โอนบ้านพิพาทคืนจำเลย จนปี พ.ศ. 2515 ศาลฎีกาจึงชี้ขาดว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวการครอบครองบ้านพิพาทของจำเลย หาเป็นการครอบครองด้วยความสงบตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ จะนับเวลาในช่วงนี้รวมเข้ากับระยะเวลาที่จำเลยครอบครองมาก่อนนั้นเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์มิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านพร้อมที่ดินโฉนดที่ ๒๕๘ โดยรับซื้อฝากไว้จากจำเลย เมื่อสัญญาขายฝากสิ้นอายุแล้ว สามีจำเลยได้เช่าบ้านหลังนี้จากโจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๙/๒๕๑๓ แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันให้ถือเอาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ ซึ่งจำเลยได้ฟ้องโจทก์ให้คืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางเป็นข้อแพ้ชนะผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ศาลจึงพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๙/๒๕๑๓ ที่โจทก์ฟ้องขับไล่นั้นเสีย จำเลยและบริวารจึงอยู่ในบ้านพิพาทตลอดมาโดยไม่เสียค่าเช่าหรือค่าเสียหายให้โจทก์ ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ โจทก์กลับเป็นฝ่ายชนะคดีจำเลยและบริวารจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านพิพาทต่อไป จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านพิพาท และส่งมอบบ้านพิพาทคืนโจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า บ้านพร้อมที่ดินโฉนดที่ ๒๕๘ เป็นของจำเลยจำเลยไม่เคยขายฝากทรัพย์พิพาทให้โจทก์ แต่ได้ยืมเงินโจทก์โดยทำสัญญาขายฝากบังหน้าไว้ จำเลยยังคงยึดถือทรัพย์พิพาทเป็นของตนตลอดมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลา ๑๔ – ๑๕ ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทกลับมาโดยการครอบครอง โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน ๑๐ ปีจึงขาดอายุความโจทก์นำเรื่องเก่ามาฟ้องใหม่จึงเป็นฟ้องซ้ำ ผลแห่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ ไม่ผูกพันคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย และโจทก์จำเลยรับกันว่าได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ จริง ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและสามีออกจากบ้านพิพาท อ้างว่าจำเลยและสามีเช่าบ้านพิพาทของโจทก์แล้วติดค้างไม่ชำระค่าเช่า จำเลยให้การว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๙/๒๕๑๓ ต่อมาจำเลยกลับฟ้องโจทก์ว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ แต่ทำนิติกรรมขายฝากบ้านพิพาทพร้อมที่ดินให้โจทก์ไว้เพื่ออำพรางการกู้ยืม จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเป็นส่วนมากแล้วขอให้โจทก์รับชำระหนี้และโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลย โจทก์ให้การว่าที่ดินและบ้านพิพาทหลุดเป็นสิทธิของโจทก์ตามสัญญาขายฝากแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ คดีหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้โจทก์รับชำระหนี้แล้วโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลย แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่แท้จริง และพ้นกำหนดไถ่คืนแล้วทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ส่วนคดีแรกนั้นคู่ความแถลงร่วมกันให้ถือเอาผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ เป็นข้อแพ้ชนะ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องคดีแรกโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด เมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ แล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้
ในปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๙/๒๕๑๓ เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยตามมูลสัญญาเช่าโดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นมูลละเมิด โดยอ้างว่าศาลฎีกาได้พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านอีกต่อไปประเด็นแห่งคดีทั้งสองเรื่องจึงไม่เหมือนกันโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ในปัญหาที่ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๐/๒๕๑๑ แล้วว่า บ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ผลแห่งคำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยผู้เป็นคู่ความ จำเลยจะอ้างในคดีนี้อีกว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยหาได้ไม่จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านพิพาท การที่จำเลยอยู่ในบ้านพิพาทต่อมาจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ในปัญหาที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทกลับคืนมาโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นับแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ โจทก์จำเลยเป็นความแย่งกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทกันตลอดมา กล่าวคือ พ.ศ. ๒๕๐๙ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย พ.ศ. ๒๕๑๐ จำเลยกลับฟ้องให้โจทก์โอนบ้านพิพาทคืนจำเลย จนปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ศาลฎีกาจึงชี้ขาดว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวนี้การครอบครองบ้านพิพาทของจำเลยหาเป็นการครอบครองด้วยความสงบตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ไม่จะนับเวลาในช่วงนี้รวมเข้ากับระยะเวลาก่อนนั้นเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ โดยครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
พิพากษายืน