แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ที่พิพาทจะเป็นที่งอกของที่ดิน ที่มีโฉนดอันจำต้องตกเป็นสิทธิของจำเลยตามกฎหมายในเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีโฉนดนั้นให้แก่จำเลยก็จริง แต่ถ้าที่พิพาทที่เป็นที่งอกนั้น ได้แบ่งแยกออกเป็นส่วนสัดจนได้รังวัดเพื่อออกโฉนดและได้รับเลขที่ดินต่างหากแล้วก่อนมีการโอนที่มีโฉนดเดิมให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว และทั้งโจทก์จำเลยก็เคยครอบครองร่วมกันมาก่อนและยังใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกันต่อมาภายหลัง โอนที่มีโฉนดเช่นนี้ ต้องถือว่า โจทก์จำเลยมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่พิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินสวนจากร่วมกัน ๑ แปลง ยังไม่มีโฉนด แต่ได้ขอรังวัดแล้ว หมายที่ ๔๐๔ ต่อมวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๐ จำเลยพาบริวาร เข้าตัดจากในที่แปลงนี้โดยไม่มีอำนาจและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินหมายเลขที่ ๔๐๔ เป็นของโจทก์ที่กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองกึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งจากโฉนดที่ ๕๘๖๔ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่งอกดังกล่าวย่อมเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว
ในวันชี้สองสถาน จำเลยรับว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์จำเลยได้ร่วมกันประมูลได้พร้อมกับที่ดินโฉนดที่ ๕๘๖๔ ในการประมูลระหว่างคู่ความในอีกคดีหนึ่ง
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ได้ถอนชื่อโจทก์ในหน้าโฉนดเลขที่ ๕๘๖๔ ซึ่งโจทก์จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โอนให้เฉพาะส่วนของโจทก์ให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ส่วนที่พิพาทโจทก์ยังเป็นผู้ครอบครองตลอดมา ได้จัดให้คนเช่าและแบ่งค่าเช่าให้จำเลยทุกปี ที่พิพาทจึงเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน พิพากษาว่าที่ดินหมายเลข ๔๐๔ เป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน โจทก์มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบกครองกึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๒,๑๐๐ บาท (ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งสิ้นเต็มเนื้อที่พิพาท ๔,๒๐๐ บาท)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เว้นแต่ข้อที่ศาลชั้นต้นว่า โจทก์จำเลยที่กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองร่วมกันในที่พิพาทนั้น เป็นแต่มีสิทธิครอบครองร่วมกัน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ได้มีการแบ่งแยกที่งอก คือ ที่พิพาทออกเป็นส่วนสัดต่างหากจากที่ดินโฉนดที่ ๕๘๖๔ ซึ่งอยู่ดินกับที่พิพาทและได้มีการขอรังวัด เพื่อออกโฉนดจนได้รับเลขที่ดินต่างหากแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกันตลอดมา แม่เมื่อโจทก์จะได้โอนกรรมสิทธิ์ส่วนของตนในที่ดินโฉนดที่ ๕๘๖๔ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ก็ปรากฏว่าโจทก์ยังสงวนสิทธิครอบครองในที่งอกอันเป็นที่พิพาทร่วมกับจำเลยอยู่ตามเดิม ดังนั้น แม้ที่พิพาทจะเป็นที่งอกของที่ดินโฉนดที่ ๕๘๖๔ อันจำต้องตกเป็นสิทธิของจำเลยตามกฎหมายเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวนี้ก็จริง แต่เมื่อมีพิพาทได้แบ่งแยกออกเป็นส่วนสัดแล้วก่อนมีการโอนและทั้งโจทก์จำเลยยังใช้สิทธิครอบครองร่วมกันต่อมาภายหลังโอนเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า โจทก์จำเลยมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่พิพาท
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์