คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10924/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ตกลงทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน จึงมิใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาร่วมทุนแต่เนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ เป็นเรื่องที่ศาลต้องปรับข้อกฎหมายให้เข้ากับเนื้อหาของสัญญา หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ชื่อสัญญาจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่แท้จริงของสัญญา ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อหาของสัญญาได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแล้วมิได้วินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นเงิน 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกจากอาคารเลขที่ 190 หมู่ที่ 10 ถนนเลียบชายหาดพัทยาใต้ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 901,546 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 123,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารของโจทก์กับชดใช้ค่าปรับแก่โจทก์อัตราวันละ 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารของโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 901,546 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 มกราคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารเลขที่ 190 หมู่ที่ 10 ถนนเลียบชายหาดพัทยาใต้ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จากนางสาวธีรจิต เพื่อประกอบกิจการบาร์หรือภัตตาคาร มีกำหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2553 ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินและอาคาร ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 โจทก์ได้นำที่ดินบางส่วนของชั้นล่างอาคารดังกล่าวไปทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำกิจการสถานบันเทิงมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงชำระเงินกินเปล่าปีละ 500,000 บาท ค่าเช่ารายเดือน เดือนละ 123,000 บาท และชำระค่าไฟฟ้า น้ำประปา ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ตามสัญญาร่วมทุน หลังครบกำหนดสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนางสาวธีรจิตแล้ว นางสาวธีรจิตได้นำอาคารดังกล่าวให้บริษัทวอล์คกิ้ง สตรีท พลาซ่า (ไทยแลนด์) จำกัด เช่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า สัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติกรรมอำพรางการทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าพื้นที่อาคารหรือไม่ เห็นว่า นิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ตกลงทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า โจทก์หลีกเลี่ยงมิให้นางสาวธีรจิตผู้ให้เช่าอาคารทราบเรื่องเพราะสัญญาเช่าอาคารระหว่างโจทก์กับนางสาวธีรจิตมีข้อห้ามมิให้นำไปให้เช่าช่วง โจทก์จึงให้ทำสัญญาร่วมทุน แต่เนื้อหาของสัญญาเป็นสัญญาเช่านั้น เห็นว่า แม้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนางสาวธีรจิต จะมีข้อความระบุมิให้โจทก์นำทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าช่วง แต่ยังมีข้อยกเว้นว่า อาจนำออกให้เช่าช่วงได้โดยได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ซึ่งโจทก์นำสืบว่านางสาวธีรจิตผู้ให้เช่าอาคารได้อนุญาตให้เช่าช่วงได้ตามหนังสือและอาคารดังกล่าวยังมีบุคคลอื่นที่เช่าช่วงจากโจทก์ได้ ตามสัญญาเช่าสถานที่และกิจการ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบสถานที่เช่าคืนแก่นางสาวธีรจิต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้แจ้งแก่นางสาวธีรจิตว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เช่าช่วงอาคารจากโจทก์ ตามบันทึกส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าช่วง จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะต้องหลีกเลี่ยงมิให้นางสาวธีรจิตทราบเรื่องการเช่าช่วงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า สัญญาร่วมทุนทำขึ้นเพื่ออำพรางการเช่าพื้นที่อาคารนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาร่วมทุนแต่เนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ เป็นเรื่องที่ศาลต้องปรับข้อกฎหมายให้เข้ากับเนื้อหาของสัญญา หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ชื่อสัญญาจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่แท้จริงของสัญญา ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อหาของสัญญาได้ มิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป
อนึ่ง โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแล้วมิได้วินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นเงิน 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้นอกจากที่สั่งคืนแล้วให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share