แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิ์ของกรรมการลูกจ้าง เพื่อมิให้นายจ้างกระทำการใดๆ ที่บัญญัติไว้เป็นผลเสียหายแก่กรรมการลูกจ้าง แต่หากนายจ้างเห็นว่ามีกรณีจำเป็นก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจะพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสมเพียงพอที่จะอนุญาต เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและความเหมาะสมเพียงพอสำหรับกรณีที่จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต่อมาจึงเป็นกรณีที่จำเลยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ภายใต้ดุลยพินิจของศาลแรงงานกลางที่อนุญาต จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยได้ชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน 98,216.50 บาท
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์มีเหตุผลอนุญาตให้เลิกจ้างโจทก์ได้ แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยยุบแผนกที่โจทก์ทำงานอยู่แล้วกลับรับพนักงานของบริษัทผู้รับเหมาช่วงที่มีประสบการณ์น้อยกว่าโจทก์เข้าทำงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของกรรมการลูกจ้าง เพื่อมิให้นายจ้างกระทำการใดๆ ที่บัญญัติไว้เป็นผลเสียหายแก่กรรมการลูกจ้าง แต่หากนายจ้างเห็นว่ามีกรณีจำเป็นก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจะพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสมเพียงพอที่จะอนุญาต เมื่อศาลแรงงานอนุญาตแล้วนายจ้างสามารถเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างดังกล่าว ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและความเหมาะสมเพียงพอสำหรับกรณีที่จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต่อมาจึงเป็นกรณีที่จำเลยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ภายใต้ดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่อนุญาต จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน