คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยพยายามจำหน่าย 20 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.564 กรัม โดยเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ดังนั้น ย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วเป็นสารบริสุทธิ์ 0.417 กรัม จึงเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 วรรคสอง, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2545 (ที่ถูก พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534) มาตรา 7 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสอง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2545 (ที่ถูก พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534) มาตรา 7 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดโทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 3 ปี 6 เดือนและปรับ 200,000 บาท ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 4 เดือน ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงปรับ 200 บาท รวมจำคุก 6 ปี 24 เดือน และปรับ 400,200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง และ 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 3 ปี และปรับ 200,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุก 6 ปี 4 เดือน และปรับ 200,200 บาท ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานเสพเมทแอมเฟตามีน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยพยายามจำหน่ายจำนวน 20 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 27 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนัก 2.59 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.564 กรัม โดยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 27 เม็ด ดังนั้น ย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 27 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วปรากฏว่ามีสารบริสุทธิ์ 0.417 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 ปี และปรับ 200,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วเป็นจำคุก 6 ปี 4 เดือน และปรับ 400,200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share