แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็ค 4 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์โจทก์ได้รับแล้วเอาเช็คเหล่านั้นชำระหนี้ให้แก่ อ. และ ล.เมื่อถึงกำหนดสั่งจ่ายบุคคลทั้งสองเอาเช็คเข้าบัญชีของตน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเอาเช็คมาคืนให้โจทก์และโจทก์ได้ชำระเงินให้บุคคลทั้งสองไป ดังนี้ เช็คทั้ง 4 ฉบับเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน อ. และ ส. ได้รับเช็คทั้ง 4 ฉบับไว้จากโจทก์เป็นการชำระหนี้ อ. และ ล. จึงเป็นผู้ถือนับว่าเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯเกิดเป็นความผิดขึ้นในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งในวันนั้น อ. และ ล. จึงเป็นผู้เสียหายไม่ใช่โจทก์แม้เช็คทั้ง 4 ฉบับได้กลับมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ภายหลังที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ก็เป็นผู้ถือหรือเป็นผู้ทรงภายหลังความผิดได้เกิดขึ้นแล้วการที่โจทก์จ่ายเงินชำระหนี้ให้ อ. และ ล. ไปจะถือเป็นการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 4 ฉบับหาได้ไม่ จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯไม่ได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2518)
ย่อยาว
คดี 4 สำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องสำนวนแรกว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ถือ ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่า”ยกกี่” แล้วนำไปหลอกลวงขอแลกเงินสดไปจากโจทก์ว่า เป็นเช็คของเจ้าของร้านเครื่องอะไหล่รถยนต์ มีฐานะดีสามารถเรียกเก็บเงินได้แน่นอน เมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่าย ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงชื่อที่ลงในเช็คคือตัวจำเลยเอง จำเลยมิได้เป็นเจ้าของร้านเครื่องอะไหล่รถยนต์หรือมีเงินในธนาคารชำระได้ตามเช็ค โจทก์หลงเชื่อได้ให้เงินแก่จำเลยไป และเมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่ายโจทก์ได้นำเช็คทั้ง 4 ฉบับเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 266, 341 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 สามสำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ เมื่อถึงกำหนดสั่งจ่าย โจทก์ให้นางสาวอุษณีย์ปริยะกุลโยธี และบุคคลผู้มีชื่ออีกคนหนึ่งนำเช็คไปเข้าบัญชีของนางสาวอุษณีย์ และบุคคลผู้มีชื่อนั้น ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะไม่มีเงินฝากพอจ่าย ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสี่สำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงในสำนวนแรก ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คทั้ง 4 สำนวน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ในสำนวนแรก จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นในทุกสำนวนยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหาย
ศาลฎีกาพิจารณาโดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยออกเช็ค 4 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้เอาเช็คเหล่านั้นชำระหนี้ให้นางอุษณีย์ และนางอัญชลี เมื่อถึงกำหนดสั่งจ่ายคือในวันที่ 1, 3 และ 14 ธันวาคม 2513 บุคคลทั้งสองเอาเช็คไปเข้าบัญชีของตนแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเอาเช็คมาคืนให้โจทก์ และโจทก์ได้ชำระเงินให้บุคคลทั้งสองไป ปัญหาว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเช็คทั้งสี่ฉบับตามที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาล เป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน นางอุษณีย์ และนางอัญชลี ได้รับมอบเช็คทั้งสี่ฉบับไว้จากโจทก์เป็นการชำระหนี้ บุคคลทั้งสองจึงเป็นผู้ถือ นับว่าเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 นั้น เกิดเป็นความผิดขึ้นในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งในวันนั้นนางอุษณีย์ และนางอัญชลี เป็นผู้ทรง นางอุษณีย์และนางอัญชลีจึงเป็นผู้เสียหาย ให้โจทก์ฎีกาว่า เมื่อนางอุษณีย์และนางอัญชลี นำเช็คไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ ได้นำเช็คมาคืนให้โจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินชำระหนี้ให้กับบุคคลทั้งสองไป และเช็คกลับมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามเช็คอีกได้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถรับเงินตามเช็คเพราะจำเลยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย ความเสียหายที่โจทก์ได้รับย่อมเห็นได้ชัดอยู่แล้ว นั้น เห็นว่า แม้เช็คทั้งสี่ฉบับได้กลับมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ภายหลังที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยนางอุษณีย์และนางอัญชลี นำมาคืนให้ ซึ่งทำให้โจทก์กลับเป็นผู้ถือเช็คเป็นผู้ทรงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นอีกได้ก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ถือหรือเป็นผู้ทรงเช็คภายหลังความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว และการที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่นางอุษณีย์ และนางอัญชลีโดยยอมรับเช็คไว้นั้นแท้ที่จริงก็เป็นการชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่จะถือเป็นการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสี่ฉบับหาได้ไม่ จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ไม่ได้
พิพากษายืน