คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยฆ่าพี่ชายและหลานสาวของจำเลย กับทุบตู้กระจกแล้วจุดไฟเผาเสื้อผ้าและเผาบ้านของผู้เสียหายหลายราย โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนนั้น เป็นการกระทำโดยจำเลยมีจิตบกพร่องหรือฟั่นเฟือน แต่การที่จำเลยไม่ทำร้ายบิดาทั้งๆ ที่บิดาเข้ากอดปล้ำจำเลยและใช้พลั่วกันจำเลยไม่ให้ทำร้ายพี่ชายก็ดี การที่จำเลยโบกมือไล่ ไม่ให้เข้าไปช่วยดับไฟที่บ้านผู้เสียหายก็ดีหรือการที่จำเลยจุดไฟเผาบ้านผู้เสียหายคนหนึ่งแล้วเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในไร่อ้อย และยอมออกมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งยอมรับสารภาพการกระทำของตนก็ดีพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังบังคับตัวเองได้บ้างกรณีต้องตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา65 วรรคสอง ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,91, 217, 218, 288, 289 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2, 5 และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 217, 218, 80, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 5 พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดในคราวเดียวกัน ฆ่านายชู เพชรแอพี่ชายของตนโดยไม่มีสาเหตุพิพาทกันแล้วฆ่านางสาวอุษาเพชรแอ หลานของตนซึ่งเข้ามาช่วยเหลือมิให้จำเลยฆ่านายชู เพชรแอ แล้วจำเลยวางเพลิงเผาบ้านของผู้อื่นเสียหายทั้งห้าหลังและยังพยายามฆ่านางสาวเพ็ญจันทร์ เพชรทอง ผู้จะมาดับไฟเป็นลักษณะโหดร้าย การกระทำโดยอุกอาจไม่ยำเกรงต่อระเบียบบ้านเมืองและตามพฤติการณ์จำเลยเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดภยันตรายแก่สังคมอย่างยิ่ง สมควรลงโทษจำเลยสถานหนักลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 ให้วางโทษประหารชีวิต ตามมาตรา 218 ให้จำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา 288, 80 ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยได้กระทำความผิดต่อหน้าบุคคลจำนวนมาก ซึ่งเป็นบิดา ญาติ และคนรู้จักจำเลยทั้งสิ้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพผิดตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ตลอดจนชั้นพิจารณาล้วนเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐานไม่มีเหตุอันควรปรานีที่จะลดโทษ จึงไม่ลดโทษให้ ของกลางริบ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตนั้นไม่ถูกต้อง เพราะรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษประหารชีวิตได้สถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษประหารชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษจำเลยลงอีก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้ขวานฟันนายชูพี่ชายและนางสาวอุษา หลานสาวโดยไม่มีกรณีพิพาทกันมาก่อน และได้ทุบตู้กระจกแล้วจุดไฟเผาเสื้อผ้าของผู้เสียหายหลายราย กับจุดไฟเผาบ้านของบรรดาผู้เสียหายตามฟ้องโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนนั้น น่าจะกระทำไปโดยจำเลยมีจิตบกพร่องหรือจิตฟั่นเฟือนโดยแท้ เพราะสามัญชนซึ่งจิตใจเป็นปกติรู้สึกผิดชอบคงจะไม่กระทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่ทำร้ายนายพวนบิดาทั้ง ๆ ที่นายพวนเข้ากอดปล้ำจำเลยและใช้พลั่วกันจำเลยไม่ให้ทำร้ายนายชูก็ดี การที่จำเลยโบกมือไล่นายหงษ์ไม่ให้เข้าไปช่วยดับไฟที่บ้านนายพลก็ดี หรือการที่จำเลยจุดไฟเผาบ้านนายงามแล้วเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในไร่อ้อย และยอมออกมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งยอมรับสารภาพการกระทำผิดของตนก็ดี พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง กรณีต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65วรรคสอง ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า อาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’

Share