คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนหุ้นบริษัทจำกัดชนิดระบุชื่อในใบหุ้นนั้น แม้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอน แต่เมื่อไม่มีพยานลงชื่อรับรองลายมือย่อมเป็นโมฆะ
การโอนหุ้นซึ่งตกเป็นโมฆะ แม้บริษัทจะได้ลงชื่อผู้รับโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้น และเคยนัดหมายให้ผู้รับโอนเข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นก็ดี ก็ไม่ทำให้ผู้รับโอนกลายเป็นผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นเป็นการไม่ชอบโดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้ถือหุ้นและสัญญาโอนหุ้นเป็นโมฆะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ยกข้อต่อสู้ในคำคัดค้านว่าผู้ร้องได้ครอบครองหุ้นมากว่า 5 ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้วย่อมไม่มีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยว่า การครอบครองสิทธิในการถือหุ้นมีได้หรือไม่เพียงใด
การปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 นั้น กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่าถ้าจะปฏิเสธให้แสดงเหตุผลประกอบการปฏิเสธ เมื่อผู้ปฏิเสธหนี้ได้ยกเหตุผลขึ้นปฏิเสธไปแล้ว แม้ไม่ได้ยกข้อกฎหมายบางข้อขึ้นกล่าวอ้างก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ยกข้อกฎหมายนั้นขึ้นว่ากล่าวในชั้นศาล

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ 37,500 บาท ผู้ร้องปฏิเสธ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วยืนยันว่า ผู้ร้องยังค้างชำระค่าหุ้นจริง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลว่า หุ้นจำนวน 50 หุ้นนั้นได้ใส่ชื่อผู้ร้องไว้เป็นผู้ถือหุ้นพอเป็นพิธี หลักฐานการโอนหุ้นก็เป็นโมฆะ ขอให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีผู้ถือหุ้นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงคัดค้านว่า การที่ผู้ร้องอ้างว่ารับโอนหุ้นไว้พอเป็นพิธีนั้น เป็นการกล่าวอ้างเอาแต่ได้ผู้ร้องเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทผู้ล้มละลายและรับผลประโยชน์ตอบแทนตลอดมา การที่ผู้ร้องยอมผูกพันตนเข้าเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นประธานกรรมการเข้าบริหารกิจการบริษัทผู้ล้มละลายแล้วนั้นย่อมมีผลตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดชำระค่าหุ้น ไม่ว่าการรับโอนหุ้นจะชอบหรือไม่ เพราะผู้ร้องได้ยอมรับการเป็นผู้ถือหุ้นและบริษัทผู้ล้มละลายก็ได้จดทะเบียนการเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ร้องไว้โดยชอบแล้ว การที่ผู้ร้องคัดค้านว่า การรับโอนหุ้นเป็นโมฆะนั้นจะกล่าวอ้างไม่ได้เพราะผู้ร้องมิได้ยกเป็นข้อปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ก่อน อนึ่ง สัญญาโอนหุ้นจะเป็นประการใดก็ตาม ผู้ร้องก็อ้างเป็นเหตุมาปฏิเสธการเป็นผู้ถือหุ้นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลมิได้

ในการไต่สวน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งเอกสารตามที่ผู้ร้องอ้างคือ ต้นขั้วใบหุ้นพิพาท หมาย ร.1 และ 3 และหนังสือโอนหุ้นหมาย ร.2 แล้วศาลชั้นต้นสั่งงดการไต่สวน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาโอนหุ้นเป็นโมฆะ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าหุ้นที่ค้างจากผู้ร้องมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีถือหุ้นเลขที่ 451 ถึง 500 ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมนายกำธร วิสุทธิผล เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย 50 หุ้น คือหุ้นเลขที่ 451 ถึง 500 ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น นายกำธร ได้โอนหุ้นจำนวนนี้ให้ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.2 แต่ไม่มีพยานรับรองลายมือ ผู้ร้องเป็นประธานกรรมการบริษัทจำเลย หุ้นจำนวนนี้ยังค้างชำระค่าหุ้นอยู่ 37,500 บาทเมื่อจำเลยถูกพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ ผู้ร้องปฏิเสธว่าผู้ร้องมิได้ถือหุ้นจริง เพียงใส่ชื่อถือหุ้นพอเป็นพิธีแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างในชั้นศาลผู้ร้องก็อ้างเหตุนี้ แต่ต่อสู้เป็นข้อกฎหมายเพิ่มเข้ามาว่า การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายกำธรเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า หนังสือสัญญาโอนหุ้นไม่ใช่สารสำคัญไม่ใช่หลักฐานแห่งหนี้ที่จะถือว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ค่าหุ้นบริษัทผู้ล้มละลายหรือไม่ แต่ต้องฟังพยานหลักฐาน ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นหลักฐานว่าได้ลงชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้น และผู้ร้องได้ครอบครองหุ้นดังกล่าวติดต่อมาเกินกว่า 5 ปี การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโดยอ้างว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นเรื่องผู้ร้องครอบครองหุ้น จึงไม่ชอบ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หุ้นพิพาทเป็นหุ้นที่ระบุชื่อลงในใบหุ้นหุ้นประเภทนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง บัญญัติว่า “การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อในใบหุ้นนั้นถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ” การโอนหุ้นรายนี้ตามเอกสารหมาย ร.2 ไม่มีพยานลงชื่อรับรองลายมือ จึงเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้ยันกับบริษัทจำเลยได้ และในทำนองเดียวกันบริษัทจำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่จากผู้ร้องได้ แม้บริษัทจำเลยจะได้ลงชื่อผู้ร้องในทะเบียนผู้ถือหุ้น และเคยนัดหมายให้ผู้ร้องเข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นก็ดี ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมายขึ้นมา

ข้อที่ว่าผู้ร้องได้ครอบครองหุ้นมากว่า 5 ปีนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์คำคัดค้านของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อว่ากล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ใช่ประเด็นที่โต้เถียงมาแต่แรก ฉะนั้น การครอบครองสิทธิในการถือหุ้นจะมีได้หรือไม่ เพียงไรจึงยังไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ข้อกฎหมายเรื่องการโอนหุ้นตกเป็นโมฆะนั้นผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะมายกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลมิได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 บัญญัติแต่เพียงว่า “ฯลฯ ถ้าจะปฏิเสธให้แสดงเหตุผลประกอบการปฏิเสธ ฯลฯ” ซึ่งผู้ร้องก็ได้ยกเหตุผลปฏิเสธไปแล้วเพียงแต่ไม่ได้ยกข้อกฎหมายข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้ผู้ร้องยกข้อกฎหมายซึ่งไม่ได้กล่าวอ้างไว้ชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขึ้นว่ากล่าวในชั้นศาลผู้ร้องจึงชอบที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้

พิพากษายืน

Share