แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากห้องแถวพิพาทซึ่งโจทก์เช่ามาจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของ โดยโจทก์มีสิทธิให้เช่าช่วงได้ และได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วง ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์จากห้องเลขที่ 21-23 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 192/2504 ของศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่ คดีอยู่ระหว่างฎีกา ดังนี้ การที่จะวินิจฉัยว่าระหว่างที่ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษา โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาถึงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าของห้องพิพาท โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งแดงที่ 192/2504 ของศาลชั้นต้น ก็เพื่อนำมาวินิจฉัยประเด็นที่ว่า ระหว่างที่ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษา โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ จึงไม่เป็นการนอกประเด็น และขาดพยานหลักฐานสนับสนุนในท้องสำนวน
เมื่อผู้ให้เช่าให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญาแม้ผู้เช่าจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้น ผู้เช่าก็มีหน้าที่ชำระค่าเช่า
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับ ซ. ครบกำหนดแล้ว ซ.ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้คู่ความมิได้รับกัน และไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน เป็นแต่จำเลยยกขึ้นอ้างในคำให้การ ซึ่งจำเลยมีภาระการพิสูจน์ แต่เมื่อโจทก์จำเลยสละข้อพิพาทในประเด็นอื่น นอกจากเรื่องค่าเช่าและค่าเสียหาย และไม่ติดใจสืบพยาน คดีไม่มีทางรับฟังตามข้ออ้างของจำเลย ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงผิดกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงข้อนี้ใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247, 253
คู่กรณีทำสัญญาเช่าต่อกัน 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2, 3 โดยโจทก์เช่าห้อง 12 ห้อง รวมทั้งห้องพิพาทจากจำเลยที่ 2, 3 อีกฉบับหนึ่งเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าช่วงห้องพิพาทจากโจทก์สัญญา 2 ฉบับนี้ไม่เกี่ยวพันกัน เพราะเป็นหนี้คนละราย แม้จำเลยที่ 2, 3 บอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 02502 อันจะมีผลทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2, 3 เลิกกันตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2503 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 ก็ตาม แต่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ยังผูกพันกันอยู่ เพราะไม่มีกรณีที่ทำให้สัญญาฉบับนี้เลิกกันไม่ว่าโดยข้อสัญญาหรือโดยกฎหมาย แม้สัญญาสิ้นกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ยังครองทรัพย์สินที่เช่าต่อมาโดยโจทก์ไม่ทักท้วง ก็ต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ตราบใดที่โจทก์ยังให้จำเลยที่ 1 ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าได้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์
เมื่อจำเลยที่ 2, 3 ซึ่งเป็นเจ้าของห้องพิพาทบอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ยอมออก จำเลยที่ 2, 3 จึงฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากห้องเลขที่ 21 – 23 ที่โจทก์ทำเป็นโรงแรม อันเป็นส่วนหนึ่งของห้องที่โจทก์เช่าจากจำเลยทั้งหมด แต่หาได้ฟ้องขับไล่โจทก์หรือห้ามโจทก์มิให้เกี่ยวข้องกับห้องพิพาทด้วยไม่ตามคำพิพากษาฎีกาที่พิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากห้องเลขที่ 21-23 ได้ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 360 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากห้อง ค่าเสียหายนี้เท่ากับจำนวนค่าเช่าที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ 2,3 รวมทั้งห้องพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ใช้ห้องพิพาทมาแต่ต้นโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่ากับโจทก์ และคงใช้ห้องพิพาทตลอดมา โดยมีสัญญาเช่าผูกพันกันอยู่ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้ห้องพิพาทโดยอาศัยตามสัญญาเช่าเดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์ตามอัตราในสัญญา คือ เดือนละ 37.50 บาท ตลอดเวลาที่ใช้ห้องพิพาทตามสัญญาเช่า
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เทียบอัตราค่าเช่าเดือนละ 37.50 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2503 จนกว่าโจทก์จะออกจากห้องเช่า เมื่อพิจารณาประกอบคำขอท้ายฟ้อง ก็เห็นว่าโจทก์หมายถึงค่าเช่าด้วย ฉะนั้น ศาลย่อมพิพากษาให้ชำระค่าเช่าให้โจทก์ได้
แต่ที่โจทก์ขอให้ชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2503 จนกว่าโจทก์จะออกจากห้องเช่านั้น ปรากฏตามคำแถลงของโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณาว่าถ้าคดีแดงที่ 192/2504 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด โดยศาลพิพากษาขับไล่โจทก์ โจทก์สละสิทธิไม่ขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยที่ 1 แต่ขอให้วินิจฉัยประการเดียวว่าระหว่างนี้โจทก์มีสิทธิจะเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ คำแถลงของโจทก์ดังนี้มีความหมายว่า ถ้าศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่โจทก์ โจทก์ก็เป็นอันสละสิทธิไม่ถือว่าที่จำเลยที่ 1 อยู่ในห้องพิพาทต่อมานับแต่วัน โจทก์ฟ้องนั้นเป็นการอยู่โดยผิดสัญญาต่อไป เพราะสละสิทธิที่ขอให้บังคับตามฟ้องในข้อนี้เสียแล้ว คงสงวนสิทธิแต่จะเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายในระหว่างนั้นเท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าควรบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้โจทก์เพียงแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2503 จนถึงวันฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าห้องเลขที่ ๕-๗ จากนางเชื่อมและนางก้อนดิน โดยโจทก์มีสิทธิให้เช่าช่วงได้ นางซื้อซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็กเส็งได้เช่าห้องดังกล่าวจากโจทก์มีกำหนด ๑๘ เดือน ค่าเช่ารวมหนึ่งห้องครึ่ง เดือนละ ๓๗.๕๐ บาท ครบกำหนดจำเลยยังครอบครอง จึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลา จำเลยไม่ชำระค่าเช่าจึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากห้อง ให้ชำระค่าเช่าที่ค้าง ๒,๒๑๒.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และค่าเสียหายเดือนละ ๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ฯลฯ
จำเลยให้การว่า เมื่อครบกำหนดสัญญา นางซื้อแจ้งโจทก์ว่าไม่มีข้อผูกพันจะชำระค่าเช่า สัญญาเช่าระงับ นางซื้อไม่ได้อาศัยสิทธิโจทก์ นางซื้อจะต้องรับผิดต่อนางเชื่อม นางก้อนดิน ซึ่งบุคคลทั้งสองได้ฟ้องขับไล่โจทก์ไปแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยเช่าห้องพิพาทจากโจทก์ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนางเชื่อม นางก้อนดินระงับไปแล้วคดีโจทก์ขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณา นางเชื่อม นางก้อนดินขอร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาในฐานะเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยเดิม เรียกว่าจำเลยที่ ๒, ๓ ตามลำดับ
โจทก์แถลงว่า โจทก์เช่าห้องพิพาทจากจำเลยที่ ๒, ๓ รวมกับห้องเลขที่ ๒๑, ๒๓ จำเลยที่ ๒, ๓ ได้ฟ้องขับไล่โจทก์จากห้องเลขที่ ๒๑, ๒๓ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คดีนั้นโจทก์ต้องวางเงินค่าเสียหายเดือนละ ๓๖๐ บาท เพื่อชำระให้เจ้าของห้องเมื่อคดีถึงที่สุด ถ้าคดีแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด โดยศาลพิพากษาขับไล่โจทก์ โจทก์สละสิทธิ์ไม่ขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยที่ ๑ แต่ขอให้ศาลวินิจฉัยเป็นข้อหารือบทประการเดียวว่า ไนระหว่างนี้เมื่อโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายให้เจ้าของห้อง คือ โจทก์ในคดีแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้นเดือนละ ๓๖๐ บาท โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ตามคำขอท้ายฟ้องต่อไปอีกหรือไม่ สำหรับค่าเสียหายแต่วันฟ้อง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันกำหนดเดือนละ ๓๗.๕๐ บาท
จำเลยแถลงว่า หากโจทก์ชนะคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๑ และบริวารยอมออกจากห้องพิพาท และยอมชำระค่าเช่าที่ค้างชำระส่วนค่าเสียหายยอมให้เดือนละ ๓๗.๕๐ บาท ตามที่ตกลงกัน
ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจอ้างพยานอื่นใดอีก นอกจากคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๕๔ ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้รอฟังผลของคดีดังกล่าว และต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเช่าที่ค้างแก่โจทก์เป็นเงิน ๔๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ ๓๗.๕๐ บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ จนกว่าโจทก์จะออกจากห้องเช่า ฯลฯ
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของทั้งสองฝ่ายเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเป็นผู้เช่าหรือให้เช่าช่วงต่อไป พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าระหว่างที่ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษา โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากจำเลยที่ ๑ ได้หรือไม่ จำจะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีความผูกพันอันจะมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาถึงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าของห้องพิพาท โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้น ก็เพื่อนำมาซึ่งการวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ระหว่างที่ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษา โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากจำเลยที่ ๑ ได้หรือไม่นั่นเอง จึงไม่เป็นการนอกประเด็น และขาดพยานหลักฐานสนับสนุนในท้องสำนวนแต่ประการใด ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๗ ผู้ให้เช่าทรัพย์สินไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญาได้แล้ว แม้ผู้เช่าจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้น ผู้เช่าก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าตามสัญญา
แต่ศาลอุทธรณ์ได้ฟังข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนางซื้อครบกำหนดแล้ว นางซื้อได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้คู่ความมิได้รับกัน ทั้งไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน เป็นแต่จำเลยได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การของจำเลยที่ ๑ และคำร้องสอดของจำเลยที่ ๒, ๓ ซึ่งจำเลยมีภาระการพิสูจน์ให้สมข้ออ้างนี้ เพราะเป็นข้อที่จำเลยอ้างขึ้นใหม่ แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายสละข้อพิพาทในประเด็นอื่น นอกจากเรื่องค่าเช่าและค่าเสียหายและไม่ติดใจสืบพยาน คดีก็ไม่มีทางจะรับฟังตามข้ออ้างของจำเลยว่านางซื้อได้บอกเลิกสัญญาเช่าห้องพิพาทกับโจทก์แล้ว ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงข้อนี้ใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๗ และ ๒๔๓ และฟังไม่ได้ว่านางซื้อได้บอกเลิกสัญญาเช่าห้องพิพาทกับโจทก์ ทั้งข้อที่โจทก์อ้างมาในฟ้องว่าบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ ๑ แล้ว ก็ฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะโจทก์ได้สละข้ออ้างนี้เสียแล้วดังกล่าวมา จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้ทำสัญญาไว้ต่อกัน ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒, ๓ โดยโจทก์เป็นผู้เช่าห้องแถว ๑๒ ห้อง รวมทั้งห้องพิพาทนี้ด้วยจากจำเลยที่ ๒, ๓ อีกฉบับหนึ่งเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าช่วงห้องพิพาทจากโจทก์สัญญา ๒ ฉบับนี้หามีผลเกี่ยวพันหรือกระทบถึงกันไม่เพราะเป็นหนี้คนละราย แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ ๒, ๓ ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ อันมีผลทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒, ๓ เลิกกันตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๖ ก็ตามแต่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ก็ยังผูกพันกันอยู่ เพราะไม่มีกรณีที่ทำให้สัญญาฉบับนี้เลิกกัน ไม่ว่าโดยข้อสัญญาหรือโดยกฎหมาย แม้สัญญาจะสิ้นกำหนดเวลาแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ยังครองทรัพย์สินที่เช่านั้นต่อมา โดยโจทก์ไม่ทักท้วง ก็ต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๐ ฉะนั้น ตราบใดที่โจทก์ยังให้จำเลยที่ ๑ ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าได้แล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์ตามสัญญา
คดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ออกไปจากห้องพิพาทแล้ว แต่กลับได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ ๒, ๓ บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ยอมออกจากห้องเช่า จำเลยที่ ๒, ๓ จึงฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากห้องเลขที่ ๒๑-๒๓ ที่โจทก์ทำเป็นโรงแรม อันเป็นส่วนหนึ่งของห้องที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ ๒, ๓ ทั้งหมด แต่หาได้ฟ้องขับไล่โจทก์หรือห้ามโจทก์มิให้เกี่ยวข้องกับห้องพิพาทด้วยไม่ ตามคำพิพาทด้วยไม่ ตามคำพิพากษาฎีกาที่พิพากษาขับไล่ออกจากห้องเลขที่ ๒๑-๒๓ ได้ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๓๖๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากห้องเช่าจำนวนเงินค่าเสียหายนี้เท่ากับจำนวนค่าเช่าทั้งหมดที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ ๒, ๓ รวมทั้งห้องพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๑ ได้ใช้ห้องพิพาทมาแต่ต้นโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ และคงใช้ห้องพิพาทนั้นตลอดมาโดยมีสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ผูกพันกันอยู่ จึงถือว่าจำเลยที่ ๑ ใช้ห้องพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าเดิมนั้นเอง จำเลยที่ ๑ จึงต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์ตามอัตราในสัญญา คือ เดือนละ ๓๗.๕๐ บาท ตลอดเวลาที่ได้ใช้ห้องพิพาทตามสัญญาเช่า
อย่างไรก็ตาม โจทก์ได้ฎีกาเพียงขอให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เทียบอัตราค่าเช่าเดือนละ ๓๗.๕๐ บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ จนกว่าโจทก์จะออกจากห้องเช่าจากห้องเช่า ที่โจทก์ขอให้ใช้ค่าเสียหายนี้ เมื่อพิจารณาประกอบคำขอท้ายฟ้องก็เห็นว่าโจทก์หมายถึงค่าเช่าด้วย ฉะนั้น ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าให้โจทก์ได้ แต่ที่โจทก์ขอให้ชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ จนกว่าโจทก์จะออกจากห้องเช่านั้น ปรากฏตามคำแถลงของโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๗ ว่า ถ้าคดีแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด โดยศาลพิพากษาขับไล่โจทก์ โจทก์สละสิทธิ์ไม่ขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยที่ ๑ แต่ขอให้วินิจฉัยประการเดียวว่า ระหว่างนี้โจทก์ก็มีสิทธิจะเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ หรือไม่ คำแถลงของโจทก์ดังนี้มีความหมายว่าถ้าศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่โจทก์ โจทก์ก็เป็นอันสละสิทธิ์ไม่ถือว่าที่จำเลยที่ ๑ อยู่ในห้องพิพาทต่อมานับแต่วันโจทก์ฟ้องนั้นเป็นการอยู่โดยผิดสัญญาต่อไป เพราะสละสิทธิที่ขอให้บังคับตามฟ้องในข้อนี้เสียแล้ว คงสงวนสิทธิแต่จะเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายในระหว่างนั้นเท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ควรบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าให้โจทก์เพียงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ จนถึงวันฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายใช้โจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ เป็นต้นไป ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าให้โจทก์ในอัตราเดือนละ ๓๗.๕๐ บาท นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ จนถึงวันฟ้องคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์