คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 380,515.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 362,396.74 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 268,705.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 พฤษภาคม 2549) ต้องไม่เกิน 18,119 บาทตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ จำนวน 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่ากรณีที่รถบรรทุกพลิกคว่ำจนสินค้าได้รับความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อสินค้าเสียหายและจำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ไม่ต้องรับผิดจึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ซึ่งปัญหานี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีจำเลยที่ 1 กับนายวิวิศน์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง การที่จำเลยที่ 1 และนายวิวิศน์เบิกความอ้างถึงข้อเท็จจริงที่มีผู้ขี่รถจักรยานยนต์แล่นตัดหน้ารถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับในภายหลัง ย่อมส่อให้เห็นเป็นข้อพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปรับสินค้าที่คลังสินค้าบริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกจากคลังสินค้าตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ของวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 จนไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 8 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เป็นเวลายาวนานถึง 11 ชั่วโมง ย่อมจะอ่อนล้า ประกอบกับรถบรรทุกหัวลากจูงรถพ่วงและสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ รวมกันมีน้ำหนักมากทั้งความยาวของรถบรรทุกหัวลากจูงและรถพ่วงเมื่อรวมกันแล้วมีความยาวมากกว่ารถบรรทุกทั่ว ๆ ไป ยากแก่การบังคับและควบคุม ก็มีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 1 อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมรถได้ดี และยังได้ความจากจำเลยที่ 1 อีกว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนน 4 ช่องทางจราจร แล่นสวนกันได้ข้างละ 2 ช่องทางจราจร ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคนขี่รถจักรยานยนต์แล่นแซงรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับไป แต่มีรถยนต์อีกคันอยู่ด้านหน้าในช่องทางข้างขวา ซึ่งย่อมไม่ใช่รถที่แล่นสวนทางมา ดังนั้น เพียงผู้ขี่รถจักรยานยนต์ชะลอความเร็วลงก็ปลอดภัยมากกว่าที่จะขี่รถจักรยานยนต์ตัดหน้ารถบรรทุกอย่างกระชั้นชิด ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่สมเหตุสมผล พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ฟังได้ว่าเหตุที่เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เกิดเพราะเหตุสุดวิสัย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อสุดท้าย จำเลยที่ 3 เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการส่งออกสินค้าของบริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีนี้หลายประการ โดยนอกจากการดำเนินพิธีการศุลกากรแล้วยังได้จองรถและเป็นผู้ชำระค่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่ง ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ โดยจำเลยที่ 3 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยที่ 2 ด้วย เพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องและแม้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งก็ตาม แต่ก็ได้ความจากนายชัยสิทธิ์ กรรมการและพยานจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ได้จองรถบรรทุกต่อจำเลยที่ 2 อันเป็นการทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้บริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยทำธุรกิจกันเช่นนี้มานานแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าการจองรถต่อจำเลยที่ 2 เช่นนี้ เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง อันไม่อาจเป็นการทำแทนผู้ขนส่งได้หากแต่เป็นการทำการแทนบริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 อย่างไรก็ตาม เมื่อนายชัยสิทธิ์ได้ทำใบจองรถโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายภายในวงเงิน 20,000 บาทต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัทผู้ส่งดังกล่าวในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนดังกล่าวแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าบริษัทเอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า และตามมาตรา 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นซึ่งตนได้มอบหมายของนั้นไปอีกทอดหนึ่งด้วย ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างผู้ขนส่งย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาตกลงที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามข้อสัญญาขนส่งแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งให้รับผิดในมูลละเมิดหรือในฐานะนายจ้างของลูกจ้างผู้ที่ละเมิดผิดไปจากข้อตกลงจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งได้ ดังนี้แม้สินค้าเสียหายมากกว่า 20,000 บาท ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดต่อบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ส่ง รวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัยและได้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่งเพียง 20,000 บาท และเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้เงินจำนวนนี้จนตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต้องชำระดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดเกิน 20,000 บาท นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น แต่เฉพาะอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ในเมื่ออุทธรณ์ข้อนี้กล่าวอ้างโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงว่า ผู้ส่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งอันเป็นการทำสัญญาขนส่งกับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง โดยผู้ส่งตกลงโดยชัดแจ้งให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไม่เกิน 20,000 บาท เท่านั้น แล้วกลับสรุปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินจำนวนที่ตกลงจำกัดความรับผิดตามสัญญาเป็นเงิน 20,000 บาท ทั้งที่จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญาขนส่ง และมิได้ให้เหตุผลโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด อุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share