คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความฟ้องเรียกหนี้สินในกรณีที่มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1272 ได้บัญญัติจำกัดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากบทบัญญัติในเรื่องอายุความทั่วไปที่ยาวกว่า และการเริ่มนับอายุความต้องถือตามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตราดังกล่าว จะนำเอาหลักในเรื่องการนับอายุความทั่วไปในมาตรา 169 มาใช้ไม่ได้ กล่าวคือ ต้องนับระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ซึ่งวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีหมายถึงวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตามมาตรา 1270 หาใช่จะต้องนับระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีคือวันที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ เพราะการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 1021และมาตรา 1022 นั้น เป็นแต่เพียงให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความที่ลงทะเบียนและนายทะเบียนได้แต่งย่อไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น จะนำมาใช้กับการเริ่มนับอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามมาตรา 1272 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี คงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เท่านั้นถึงแม้ในสัญญาค้ำประกันจะระบุถึงการสละสิทธิในข้อต่อสู้ต่าง ๆในฐานะของผู้ค้ำประกันที่จะพึงมีตามกฎหมายไว้ ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหลุดพ้นความรับผิดเนื่องจากหนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิดด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีหากค้างชำระดอกเบี้ยยอมให้คิดทบต้นได้ทุกเดือนต่อมามีบันทึกตกลงให้คิดดอกเบี้ยขึ้นลงตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2และที่ 3 เข้าค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1รับเงินไปครบจำนวนที่ตกลงไว้แล้วผิดนัดค้างชำระเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 696,513.28 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 679,207.45 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ถูกต้องลายมือชื่อและตราประทับไม่ใช่ลายมือชื่อและตราประทับที่แท้จริงโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2527 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2527 แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2529 อันเป็นเวลาที่พ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การมีข้อความทำนองเดียวกันว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์คิดทบต้นจากจำเลยที่ 1 เพราะเข้าค้ำประกันในวงเงินเพียง 200,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันสิ้นสุดการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 หรือไม่เห็นว่า อายุความฟ้องร้องเรียกหนี้สินในกรณีที่มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1272 บัญญัติว่า “ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ที่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” บทบัญญัติมาตรานี้เป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากบทบัญญัติในเรื่องอายุความทั่วไปที่ยาวกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ และการเริ่มนับอายุความก็ต้องถือตามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรานี้จะนำเอาหลักในเรื่องการนับอายุความทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 มาใช้ไม่ได้ กล่าวคือต้องนับระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีซึ่งวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีนั้น หมายถึงวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 ข้อเท็จจริงยุติว่านายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่31 สิงหาคม 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2529 จึงเกินกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์อ้างบทบัญญัติในมาตรา 1021 และมาตรา 1022มาในฎีกาว่าจะต้องนับระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีคือวันที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นการกล่าวอ้างถึงการที่กฎหมายให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความที่ลงทะเบียนและนายทะเบียนได้แต่งย่อไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น จะนำมาใช้กับการเริ่มนับอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามมาตรา 1272 ไม่ได้
โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงยกอายุความตามมาตรา 1272ขึ้นมาต่อสู้โจทก์ไม่ได้ ได้พิจารณาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.13 จ.14 แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานะส่วนตัวมิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ขอกู้ เบิกเงินเกินบัญชี คงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานที่เป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น เมื่อนิติสัมพันธ์ในความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อโจทก์เป็นในลักษณะที่เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ถึงแม้ในสัญญาค้ำประกันจะระบุถึงการสละสิทธิในข้อต่อสู้ต่าง ๆในฐานะของผู้ค้ำประกันที่จะพึงมีตามกฎหมายไว้ ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะจากผู้ค้ำประกันกลายมาเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ของลุกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดเนื่องจากหนี้ของโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิดด้วย
พิพากษายืน.

Share