แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่พนักงานอัยการโจทก์ขอให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายรวมมากับฟ้องคดีอาญาที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงด้วยนั้นหากศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อใช้เงินเป็นให้ใช้น้อยลง ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2502 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2503 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จประกาศโฆษณายกป้ายชื่อบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่าบริษัทสโนดรีมจำกัด มีวัตถุประสงค์ค้าน้ำแข็งฯ มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นรองผู้อำนวยการรับสมัครคนเข้าทำงานในบริษัทหลายตำแหน่ง เพื่อมุ่งเอาทรัพย์สินของประชาชนที่มาสมัครงานโดยจำเลยเรียกเงินเป็นค่าค้ำประกันบ้าง ค่าหุ้นส่วนบ้าง จำเลยได้ทรัพย์เพราะการหลอกลวงเป็นเงิน 89,400 บาท จากประชาชน 48 คน
ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองสมคบร่วมกันทุจริตหลอกลวงประชาชนกว่า 10 คนขึ้นไปประกอบการงานในหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่จำเลย โดยจำเลยไม่ใช่ค่าแรงงาน ค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นบ้างใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกันบ้าง เป็นจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายเป็นค่าจ้างตามที่ตกลงแก่บุคคลดังกล่าวอีก 10,800 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนรวม 106,200 บาทแล้วก็หลบหนีไปเหตุเกิดที่ตำบลสุริวงศ์ อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 342, 343, 344 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 106,200 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 342, 343, 344จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 106,200 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดตัดสินว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องนั้น ไม่มีเหตุควรแก้ไข ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 106,200 บาทยังไม่เป็นการถูกต้องนั้น คดีได้ความว่า เรื่องนี้มีผู้เสียหายหลายสิบคน ผู้เสียหายมาเป็นพยานให้การต่อศาลไม่ครบถ้วนจำนวนคนจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธการกระทำผิด ดังนั้น จำนวนเงินที่ว่าสูญเสียไปสำหรับผู้เสียหายที่ไม่ได้มาเป็นพยานให้การต่อศาลว่าเท็จจริงประการใด จึงเอาเป็นที่แน่นอนเด็ดขาดตามฟ้องยังไม่ได้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำนวนเงินของผู้เสียหายส่วนนี้ยังไม่ควรที่จะอยู่ในบังคับให้จำเลยต้องรับผิดในเรื่องนี้ทั้งคำนวณแล้วผู้เสียหายตามบัญชีท้ายฟ้องมาเป็นพยานให้การต่อศาลเพียง 19 คน รวมจำนวนเงินค่าหุ้น ค้ำประกัน 37,500 บาท ค่าแรงงาน ค่าจ้าง 8,750 บาท แต่เฉพาะค่าหุ้น ค่าประกันของนายตัดเหม็งนายแสงนายทัดคองผู้เสียหายนั้นตามฟ้องกล่าวเกินไปรวม 6,000 บาท เมื่อหักออกแล้วคงเหลือเป็นเงินค่าหุ้น ค่าประกัน เป็นเงิน 31,500 บาท รวมทั้งค่าแรงงาน ค่าจ้าง เป็นเงิน 40,250 บาท ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ควรเรียกร้องแทนผู้เสียหายได้ นอกนั้นไม่ควรบังคับให้อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้นพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อใช้เงิน เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายเฉพาะที่มาเป็นพยานให้ความสัตย์จริงต่อศาลเท่านั้นเป็นเงิน 40,250 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินอีก 59,950 บาทให้แก่ผู้เสียหายอีก 29 คนตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายรวมมากับฟ้องคดีอาญาที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งตามมาตรา 44 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ศาลพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคารวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น กฎหมายให้ถือเรื่องการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาไม่ว่าราคาทรัพย์นั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงใด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อใช้เงิน เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายเฉพาะที่มาเป็นพยานให้ความสัตย์จริงต่อศาลอันมีจำนวนเงินน้อยลง ส่วนข้อจำคุกคงยืนตาม ดังนี้จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลยไม่เกิน 5 ปีโจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 366/2482ระหว่างอัยการจังหวัดระยอง โจทก์ ขุนวิทยุเวค (ฉัตร พู่สุวรรณ์)กับพวก จำเลย ฎีกาของโจทก์เป็นข้อเท็จจริง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์เสีย