คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะถือว่าเป็นตัวแทนเชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 821 นั้น บุคคลภายนอกจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของตัวการถ้าไม่หลงเช่นนั้น กล่าวคือ เชื่อว่าเป็นกิจการของผู้มาติดต่อเอง ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของร้านสมบัติพานิช จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ ให้จัดการร้านค้าดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ ๒ ทำสัญญากับธนาคารสาขาของโจทก์ที่ขอนแก่น ให้โจทก์จ่ายเงินค่าซื้อบุหรี่แก่โรงงานยาสูบ จำเลยที่ ๓-๔ ทำสัญญาค้ำประกันว่า ถ้าหากจำเลยที่ ๒ ไม่ปฎิบัติตามสัญญา ก็ยินยอมรับใช้แทนไม่เกิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท หลังจากทำสัญญากันแล้ว โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่โรงงานยาสูบแทนจำเลยที่ ๒ หลายครั้ง รวมเงิน ๒๙๗,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ จ่ายเช็คให้โจทก์แต่ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์เตือนจำเลยที่ ๒ ให้นำเงินเข้าบัญชี และได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑,๓,๔ ทราบ แต่จำเลยทุกคนต่างเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ ๑,๒ ใช้เงินแก่โจทก์ ๒๙๗,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๓,๔ รับผิดไม่เกินวงเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธหลายประการ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑,๒ ร่วมกันชำระเงิน ๒๙๗,๐๐๐ บาท ถ้าบังคับเอาจากจำเลยที่ ๑,๒ ไม่ได้ ก็ให้จำเลยที่ ๓,๔ ใช้แทนไม่เกิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑,๓,๔ นอกนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีต้องฟังว่าจำเลยที่ ๒ ติดต่อตกลงทำสัญญากับโจทก์เป็นส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ เอง หาใช่กระทำโดยได้รับมอบหมายหรือเป็นลูกจ้างตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ ๒ ตกลงทำสัญญากับโจทก์แทนจำเลยที่ ๑
คงมีกรณีเป็นปัญหาอยู่ก็แต่ว่า จำเลยที่ ๑ ได้เชิดจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนของตนดุจดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเอาเอง ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๒๑ นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของใครแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเช้าใจว่าเป็นกิจการของใครคนนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ แต่ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยมิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของใครอื่น แต่ยอมรับติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้ติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย แต่จะต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงใครให้ต้องรับผิดชอบด้วยเลย ในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพฤติการณ์ระหว่างนายมังกรแก้วตัวแทนของโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ส่อแสดงว่านายมังกรแก้วถือเอาจำเลยที่ ๒ เท่านั้น เป็นผู้รับผิดชอบในสัญญา ไม่คำนึงถึงใครอื่นอีก จึงไม่อาจปรับเป็นกรณีเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนได้ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนฎีกาโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓-๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีควรต้องฟังว่าหาได้มีการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันดังที่จำเลยที่ ๓-๔ ต่อสู้ไม่ และคดีเป็นที่แน่ชัดอยู่ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นลูกหนี้ยังค้างชำระหนี้รายนี้ต่อโจทก์อยู่ ๒๙๗,๐๐๐ บาท หาใช่ชำระกันเสร็จสิ้นแล้วดังที่ต่อสู้ไม่
จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒,๓,๔ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share