แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คถึงกำหนด แม้โจทก์จะนำเข้า บัญชีมารดาโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินและถูกธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงการนำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินโดย อาศัยบัญชีของมารดาแทนเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่มารดาโจทก์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีได้ การที่โจทก์เป็น ผู้ทรงเช็คพิพาท นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารตามเช็คเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายฉะนั้น ไม่ว่าโจทก์จะนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เองเพื่อเรียก เก็บเงิน หรือเข้าบัญชีของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงินแทนก็เป็น เพียงรายละเอียดในการนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเท่านั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงมิใช่แตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็น เหตุให้ศาลยกฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาหาดใหญ่ จำนวน 4 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2539 ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จำนวนเงินแต่ละฉบับเท่ากัน ฉบับละ 340,418 บาท เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือคืนให้แก่โจทก์เมื่อเช็คทั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาถนนศุภสารรังสรรค์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 30,000 บาท รวม 4 กระทง จำคุก 12 เดือน และปรับ 120,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับซึ่งเป็นเช็คผู้ถือให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำไปเข้าบัญชีของนางศิริกุล ชวนะโรจน์ฤทธิ์ มารดาที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาถนนศุภสารรังสรรค์ เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสี่ฉบับ โดยให้เหตุผลเหมือนกันทุกฉบับว่าบัญชีปิดแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คถึงกำหนดแม้โจทก์จะนำเข้าบัญชีมารดาเพื่อเรียกเก็บเงินและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงการนำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินโดยอาศัยบัญชีของมารดาแทนเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าโจทก์ได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่มารดาโจทก์แล้ว โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2529 ที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ไม่อาจนำมาปรับกับคดีนี้ได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่นำสืบว่า นำเช็คพิพาทเข้าเรียกเก็บเงินในบัญชีของมารดาโจทก์ เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อที่ได้กล่าวในฟ้องจึงต้องยกฟ้องนั้น เห็นว่าการที่โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารตามเช็ค เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้น ไม่ว่าโจทก์จะนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เองเพื่อเรียกเก็บเงิน หรือเข้าบัญชีของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงินแทนก็เป็นเพียงรายละเอียดในการนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเท่านั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงมิใช่แตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องดังที่จำเลยอ้างได้
พิพากษายืน