แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตและการต่อเติมนั้นเป็นเหตุให้ขาดประโยชน์แห่งการป้องกันอัคคีภัย และการผังเมืองไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แม้อาคารพิพาทจะมีความมั่นคงแข็งแรงก็ถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่จะต้องรื้อถอน หัวหน้าเขตมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดิน และต่อมาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับกับการก่อสร้าง ปรากฏว่าจำเลยมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แม้ต่อมาหัวหน้าเขตจะมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารที่ปิดทางเดินด้านหลังและที่ต่อเชื่อมอาคารด้านข้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดินอีกครั้งหนึ่ง จำเลยได้รับคำสั่งแล้วแต่จำเลยก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตครั้งหลังนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตได้การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นเกินสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 โจทก์จึงไม่จำต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน
แม้คำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทจะกำหนดให้จำเลยรื้อถอนอาคารน้อยกว่าสามสิบวัน อันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรก แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่จำเลยได้รับคำสั่งดังกล่าวนานถึง 2 ปีเศษ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่คำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า 30 วัน ก็ไม่ทำให้อำนาจทั้งตามมาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 และตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการที่จะสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องหมดไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ หรือเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยได้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารตึกแถวเลขที่ ๒๔๗/๓๗ โดยต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้นเชื่อมต่อออกไปทางด้านหลังของอาคารตึกแถวเดิมกว้าง ๒.๔๐ เมตร ยาว ๕.๒๐ เมตร สูง ๗.๔๐ เมตร และด้านข้างในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๐๑๖ กว้าง ๔.๔๐ เมตร ยาว ๗.๔๐ เมตร ผนังทุกด้านก่ออิฐฉาบปูนและหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก ปกคลุมที่ว่างทางเดินด้านหลังอาคารตึกแถวเลขที่ ๒๔๗/๓๗ และที่ดินที่ว่างอยู่ ๒.๐๐ เมตร โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น สิ่งปลูกสร้างที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่อาจออกใบอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงได้ เพราะขัดต่อกฎกระทรวงเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร หัวหน้าเขตผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่กำลังดัดแปลงต่อเติมออก จำเลยเพิกเฉย และยังดัดแปลงต่อเติมอยู่อีก หัวหน้าเขตจึงแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย โดยศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ จำเลยก็ยังไม่รื้อถอนหัวหน้าเขตแจ้งให้จำเลยรื้อถอนภายใน ๓๐ วัน จำเลยก็ยังเพิกเฉยและมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างต่อเติมอาคารตามฟ้องจำเลยเพียงรับช่วงซื้อตึกแถวและที่ดินมาโดยสุจริต ตามสภาพตึกแถวที่ปรากฏกับการใช้ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่มีลักษณะขัดกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีนี้จำเลยได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณา ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาโจทก์จึงต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารตึกแถวที่ก่อสร้างดัดแปลงเพิ่มเติมตามฟ้อง ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ขาดประโยชน์แห่งการป้องกันอัคคีภัย และการผังเมืองไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้อาคารพิพาทจะมีความมั่นคงแข็งแรงก็ถือไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรที่จะต้องรื้อถอน หัวหน้าเขตยานนาวามีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดินเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๒ และต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๒ ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างปรากฏว่าจำเลยมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตยานนาวาดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด แม้ต่อมาหัวหน้าเขตยานนาวาจะมีคำสั่งลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารที่ปิดทางเดินด้านหลังและที่ต่อเชื่ออาคารด้านข้างโดยมิได้รับอนุญาต และเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๔ หัวหน้าเขตยานาวาได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดินอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๔ แต่จำเลยก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตยานนาวาครั้งหลังนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องของให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ กทม.๙๐๐๕/๔๙๑๙ ของหัวหน้าเขตยานนาวาในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เป็นการอุทธรณ์เกินสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ โจทก์จึงไม่จำต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน แม้คำสั่งให้รือถอนอาคารพิพาทจะกำหนดให้จำเลยรื้อถอนอาคารน้อยกว่าสามสิบวัน อันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๒ วรรคแรก แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่จำเลยได้รับคำสั่งดังกล่าวนานถึง ๒ ปีเศษ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องส่วนที่คำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทออกภายหลังคำสั่งให้หระงับการก่อสร้างเกินกว่า ๓๐ วัน ก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการที่จะสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องหมดไปทั้งตามมาตรา ๑๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ และตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ หากโจทก์จะเสียหายเพราะการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ วรรคสอง ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันต่างหาก
พิพากษายืน.