คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 รู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทกับจำเลยที่ 2 มาก่อนมีเจตนาขัดขวางการโอนที่ดินแปลงพิพาท ด้วยวิธีขออายัดและฟ้องศาล โดยมีคำขอให้ห้ามชั่วคราวมิให้มีการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงเป็นการร่วมกันจงใจกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เพียงแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนเพื่อให้การซื้อขายสมบูรณ์ และมิได้ส่งมอบที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครอง จำเลยที่ 1 คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะขับไล่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านของโจทก์ที่ 2 ให้ออกไปจากที่พิพาทได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในสำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 1 ให้เรียกโจทก์ที่ 2 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2 ให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 1 และเรียกผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรกและเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 2

สำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโจทก์ที่สองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ไปว่าจะไปจำนองเอาเงินมาค้าขาย แต่กลับเอาไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 เอง ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนขายดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 เข้าเป็นจำเลยร่วม

สำนวนที่สอง จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากโจทก์ที่ 2 แต่ที่พิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว 450,000 บาท ระหว่างการซื้อขาย โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิไม่สุจริตขัดขวางไม่ให้จำเลยที่ 2 ได้รับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยได้ขออายัดและฟ้องร้องคดีโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่พิพาท ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายและออกจากที่พิพาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาทกับโจทก์ โจทก์ไม่เคยทราบการซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ที่ 1 สำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม จำเลยที่ 1 จึงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทโจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมแล้ว ไม่ได้ละเมิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 พร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินแปลงพิพาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในสำนวนที่สอง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 เดือนละ 4,687 บาท 50 สตางค์ นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2518 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน

ระหว่างฎีกา นายสอน ตั้งจิตนุสรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางจิตรา ตั้งจิตนุสรณ์ เข้าเป็นคู่ความแทนที่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 รู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทกับจำเลยที่ 2 มาก่อน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาขัดขวางการโอนที่ดินแปลงพิพาท ด้วยวิธีขออายัด และฟ้องศาล โดยมีคำขอให้ห้ามชั่วคราวมิให้มีการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงเป็นการร่วมกันจงใจกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2

ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออกจากที่ดินโฉนดพิพาทเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 เพียงแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนเพื่อให้การซื้อขายสมบูรณ์ และมิได้ส่งมอบที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครอง จำเลยที่ 1 คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่จำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะขับไล่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านของโจทก์ที่ 2 ให้ออกไปจากที่พิพาท ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องนี้ และตามประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำขอของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออกจากที่ดินให้ยกเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share