แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ว่าการผิดนัดของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่ซื้อจากโจทก์ออกใช้ประโยชน์ ซึ่งหากคิดรายได้เพียงวันละ 9 ชั่วโมง จำเลยจะมีรายได้วันละ 30,937.50 บาท มากกว่าค่าปรับที่จำเลยคิดจากโจทก์ตามสัญญา จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเนื่องจากไม่ได้สืบพยานโจทก์และจำเลยในศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีโอกาสถามค้านได้ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น ค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ถ้าหากสูงเกินส่วน เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าปรับให้โจทก์ เป็นเงิน2,514,344 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเบี้ยปรับจำนวน1,616,364 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากคำฟ้องและคำให้การประกอบกับเอกสารในคดีรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน2528 โจทก์ได้ทำสัญญาขายรถไสกัดผิวถนนคอนกรีตและถนนแอสฟัลต์จำนวน 1 คัน พร้อมอุปกรณ์ให้จำเลยในราคา 8,979,800 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 3 มกราคม 2529 รายละเอียดปรากฏตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 แต่โจทก์ได้ส่งมอบสิ่งของให้จำเลยล่าช้าไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายเป็นเวลา 140 วัน จำเลยได้หักเบี้ยปรับรายวันในอัตรา 0.2 ของราคาสิ่งของตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 9เป็นเงิน 2,514,344 บาท คงชำระราคาสิ่งของให้โจทก์จำนวน 6,465,456บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่จำเลยปรับโจทก์เป็นเงิน 2,514,344 บาท เหมาะสมแล้วหรือไม่ จำเลยอ้างเหตุว่าเนื่องจากการผิดนัดของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้ใช้รถไสกัดผิวถนนคอนกรีตและถนนแอสฟัลต์กล่าวคือการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเคยติดต่อกับจำเลยเพื่อนำไปใช้ทำถนนทางด่วนเฉลิมมหานคร รวม2 ครั้ง ครั้งแรกใช้และปฏิบัติงาน 37 ชั่วโมง 30 นาที คิดเป็นเงิน123,750 บาท ครั้งที่สองใช้และปฏิบัติงาน 29 ชั่วโมง คิดเป็นเงิน95,700 บาท หากคิดการปฏิบัติงานของรถดังกล่าวเพียงวันละ 9 ชั่วโมงจำเลยจะมีรายได้วันละ 30,937.50 บาท จึงมากกว่าค่าปรับที่จำเลยคิดจากโจทก์ เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวเพิ่งอ้างในชั้นฎีกาเนื่องจากไม่ได้สืบพยานโจทก์และจำเลยในศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีโอกาสถามค้านได้ตามข้ออ้างของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยจำเป็นจะต้องใช้รถไสกัดผิดถนนคอนกรีตและแอสฟัลต์หรือมีผู้ว่าจ้างจำเลยทุกวันซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยขาดรายได้เพราะการส่งมอบล่าช้า ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้นค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 9เป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ที่จำเลยปรับโจทก์เป็นเงิน 2,514,344 บาท จากราคาสินค้า8,979,800 บาท นับว่าสูงเกินส่วน เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดเบี้ยปรับโจทก์ร้อยละสิบของราคาสิ่งของคิดเป็นเงิน 897,980 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน