คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แม้บทบัญญัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18ยังไม่ใช้บังคับก็ตาม แต่ขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฎีกาบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว คู่ความจะฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิเคราะห์ตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 80,627 บาท โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้น้อยไปขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 273,342 บาท ดังนี้ จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2และเรียกโจทก์สำนวนที่สามว่าโจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บุคคลลัภย์ จำกัด จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นเจ้าของและร่วมกันครอบครองรถยนต์บรรทุกและร่วมกันเป็นนายจ้างของนายสมานซึ่งขับรถโดยประมาทชนรถยนต์โจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาโดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับและโจทก์ที่ 3 เป็นผู้โดยสารเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายและโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 114,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 288,342 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 526,021.70 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การทั้งสามสำนวนมีใจความว่า โจทก์ที่ 1ไม่ได้เป็นเจ้าของไม่มีสิทธิครอบครองหรือใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เช่าซื้อและรับมอบรถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ 2ผู้เป็นเจ้าของ และจ้างนายสมานเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นนายจ้างของนายสมานเหตุที่เกิดเนื่องจากโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูงมิได้ชะลอหรือหยุดรถในขณะที่ฝนตกถนนลื่นนายสมานไม่ได้ประมาท หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขุมวิทเฟิร์สคาร์เร้นท์ ผู้เป็นเจ้าของหรือตัวแทนผู้ครอบครองรถยนต์ที่เกิดเหตุไปแล้ว ค่าเสียหายตามฟ้องเกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่านายวิจิตรเป็นนายจ้างของนายสมานต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกตามขอ
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีสิทธิครอบครองหรือใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยร่วมไม่ได้เป็นนายจ้างของนายสมานไม่ต้องร่วมรับผิด หลังเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและชำระค่าเสียหายเรียบร้อยแล้วหนี้เป็นอันระงับ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เสียหายในส่วนขาดรายได้ในการปฏิบัติงานไม่เกินคนละ 1,500 บาท คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วม ร่วมกันชำระเงิน 80,627 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยและร่วมกันชำระเงิน 144,386.20 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ทั้งสามสำนวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 57,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534มาตรา 18 บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ฯลฯ แม้ขณะที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม2534 บทบัญญัติดังกล่าวจะยังไม่มีผลใช้บังคับตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534มาตรา 2 ก็ตาม แต่ขณะที่โจทก์ทั้งสามสำนวนยื่นฎีกาเมื่อวันที่1 พฤศจิกายน 2534 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วคู่ความจะฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิเคราะห์ตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะยื่นฎีกา คดีของโจทก์ที่ 1 มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว
ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้นั้นน้อยไป ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน114,000 บาท และพยานที่นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3กับจำเลยร่วมเป็นนายจ้างของนายสมานต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 1 เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 80,627 บาท โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่าค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้ดังกล่าวน้อยไป ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 273,342 บาท ดังนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่เกินสองแสนบาทและฎีกาของโจทก์ที่ 2 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วม และตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมมิได้เป็นนายจ้างของนายสมาน
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ 3 ว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ที่ต้องขาดประโยชน์จากรายได้พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนอันจำเลยที่ 1ต้องรับผิดมีเพียงใดแล้วกำหนดให้เป็นจำนวน 40,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าขาดประโยชน์จากรายได้พิเศษของโจทก์ที่ 3 นั้น ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน40,000 บาท ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 1 และฎีกาของโจทก์ที่ 2ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share