คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.กับส. ไปหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงาน ขอค้นบ้าน และค้นได้แป้งเชื้อสุรา แล้วคุมตัวผู้เสียหายไปมอบให้ ด. ที่บ้านของ ป. ด.หลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิต บอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับ ถ้าไม่เอาเงินมาเสียจะจับส่งอำเภอ แล้วผู้เสียหายถูกคุมไปหายืมเงิน พบข. ซึ่งเป็นกำนัน ได้เล่าเรื่องให้ฟัง ข. พูดส่งเสริมให้ผู้เสียหายเสียเงินให้ที่นั่น ผู้เสียหายเอาเงินให้ ช. รับเงินเอาไว้แล้วบอกให้ผู้เสียหายกลับได้ วันนั้นเอง ช. ไปร่วมรับประทานอาหารและแบ่งเงินให้ ป. ส. และ ด. การกระทำของ ป. ส. และด. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 310 และ 337 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ด้วย และการกระทำของ ช. ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 341 เช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 ฐานฉ้อโกง ด. กับ ช. จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงด้วย ก็เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ตลอดถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพและฉ้อโกง กับขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่จำเลยรับไปจากผู้เสียหายด้วย เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว ศาลย่อมพิพากษาให้ยกคำขอให้คืนหรือใช้เงินนี้เสียด้วย (แม้โจทก์จะฎีกาฝ่ายเดียว ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง จำเลยไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้)

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ ๑ และ ๒ บอกผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงานขอค้อบ้านและค้นได้แป้งเชื้อสุรา แล้วจำเลยที่ ๑ และ ๒ คุมตัวผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยที่ ๑ และมอบตัวให้แก่จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ก็อ้างตนว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิต ให้ผู้เสียหายพิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกรับว่ามีแป้งเชื้อสุราและแจ้งให้ผู้เสียหายเอาเงินมาชำระค่าปรับ ๑,๐๐๐ บาท เมื่อผู้เสียหายว่าไม่มีจำเลยที่ ๓ ก็บอกให้ไปหายืมมา ถ้าไม่เอาเงินมาเสียจะจับส่งอำเภอ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ แล้วจำเลยที่ ๑ และ ๒ ก็คุมตัวผู้เสียหายไปหายืมเงินที่บ้านนายป้อ พบจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นกำนันที่นั่น ผู้เสียหายเล่าเรื่องให้ฟัง จำเลยที่ ๔ พูดว่าเสียค่าปรับที่นั่นหรือที่อำเภอก็เท่ากัน เสียที่นั่นดีกว่า ผู้เสียหายก็ยืมเงินมาสมทบกับเงินที่มีอยู่ วางให้จำเลยที่ ๔ รับเอาไป จำเลยที่ ๔ จึงให้กลับได้แล้วจำเลยที่ ๔ ไปร่วมรับประทานอาหารกับจำเลยอื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๕, ๓๑๐, ๓๔๑ ประกอบด้วย มาตรา ๘๓๒ ส่วนจำเลยที่ ๔ มีความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ฐานเดียว ลงโทษจำคุก กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๓ และ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่ผู้เสียหายต้องให้เงินก็เพราะกลัว อันเป็นความผิดฐานกรรโชก ตามมาตรา ๓๓๗ ซึ่งโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหรือประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ใช่ฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลมีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ ๑, ๒ ด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องในข้อหาฐานฉ้อโกงสำหรับจำเลยทุกคน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานสมคบกันฉ้อโกงด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายให้เสียเสรีภาพ โดยจะจับตัวไปส่งอำเภอ ผู้เสียหายถูกข่มขืนใจจำต้องให้เงิน อันเป็นความผิดตามมาตรา ๓๗๗ หาใช้ว่ายอมส่งทรัพย์ให้เพียงแต่ถ้อยคำที่จำเลยอ้างตนว่าเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ส่วนจำเลยที่ ๔ ได้พูดสนับสนุนในการกระทำผิดฐานการโชกของจำเลยที่ ๑, ๒ล๓ ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงฉ้อโกง เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยใช้หรือคืนทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้สียหายด้วยนั้น ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share