แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความเสียหายฐานละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งร้ายแรงพอ ๆ กัน จึงพับกันไป
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะทายาทของผู้ตายใช้ค่าเสียหาย28,621 บาทกับดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และฟ้องแย้งโจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 58,000 บาทกับดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 นอกนั้นยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทั้งสองฝ่าย จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดเพื่ออาศัยพฤติการณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนซึ่งจะต้องชดใช้แก่กัน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 ศาลฎีกาพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งละเมิดของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่ามีความร้ายแรงพอ ๆ กัน ความเสียหายย่อมเป็นพับกันไปเพราะเป็นผลอันเกิดจากการกระทำความผิดของตนเอง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของพันจ่าอากาศเอกบุญปลอด แทนมณี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของนายสนิท ม่วงทอง ผู้ขับรถยนต์บรรทุกต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของพันจ่าอากาศเอกบุญปลอด แทนมณี เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรกเสียทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับกันไปทั้งสองสำนวน นอกจากที่แก้นี้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”