คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาเช่าทรัพย์ประกอบกับคำมั่นว่าจะขายค่าเช่าซื้อก็คือค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินที่โจทก์นำออกให้เช่าแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 5 ว่าด้วยเช่าซื้อจะมิได้บัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยตรงก็ตามโจทก์ก็จะต้องฟ้องเสียภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6)(อ้างฎีกาที่ 798/2508 และ 192/2512)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ไปจากโจทก์โดยชำระเงินในวันทำสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์ไว้บางส่วน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ แต่เป็นสัญญาซื้อขาย จำเลยได้ชำระราคาให้แก่ผู้ขายด้วยเช็คแล้วโจทก์ต้องฟ้องคดีภายในอายุความ 2 ปี แม้จะฟังว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ ก็เป็นเรื่องที่เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์ออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ให้ตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ชำระเงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ฉะนั้น ก่อนที่สัญญาจะสำเร็จเป็นการขายทั้งสองย่อมต่างผูกพันกันเพียงในฐานะผู้เช่าทรัพย์ มูลหนี้ตามสัญญาจึงเป็นมูลหนี้ที่ผูกพันจากการเช่าทรัพย์ โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน2 ปี แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เลยกำหนดแล้วจึงขาดอายุความ สัญญาตามฟ้องไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์เรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาเช่าซื้อซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 164 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลผู้ประกอบการค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ในปี 2515 นั้น โจทก์นำไปขึ้นเงินไม่ได้ จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2519 ที่โจทก์ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้เอกสารสัญญาจะมีข้อความว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อก็เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประกอบคำมั่นว่าจะขาย ดังนัยฎีกาที่ 798/2508 ทรัพย์ที่โจทก์ให้จำเลยเช่าไปคือรถแทรกเตอร์ เช็คที่โจทก์นำมาฟ้องแม้จะเรียกว่าเป็นค่าเช่าซื้อก็คือค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินที่โจทก์นำออกให้เช่านั่นเอง แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 5 ว่าด้วยการเช่าซื้อจะมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ โดยตรงก็ตาม โจทก์ก็ต้องฟ้องเสียภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(6) และตามนัยฎีกาที่ 192/2512 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share