คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077-1078/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมีข้อความว่า. หากพยานคนกลางชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของผู้ใดแล้ว ก็ให้ผู้นั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท. ดังนี้ จึงเป็นข้อตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ.
เมื่อพยานคนกลางชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย. โดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยได้สิทธิเป็นเจ้าของที่พิพาท. โจทก์จึงจะฟ้องขอให้พิพากษาให้ที่พิพาทนั้นเป็นของโจทก์ไม่ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นฟ้องใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโดยได้แจ้งการครอบครองต่ออำเภอท้องที่ และครอบครองที่ดินตลอดมา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2507 จำเลยยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและทำนิติกรรมยกที่ดินให้บุตรแล้วจำเลยได้นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์ในสำนวนแรกกว้าง 2 เส้น 19 วายาว 3 เส้น รวมเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ราคา 5,000 บาท และรุกล้ำที่ดินโจทก์ในสำนวนที่สองกว้าง 1 เส้น ยาว 3 เส้น เนื้อที่ 3 ไร่ราคา 1,500 บาท โจทก์ร้องคัดค้านทางอำเภอเปรียบเทียบไม่ตกลงกันทางอำเภอสั่งให้โจทก์ฟ้อง จึงขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าที่ดินที่พิพาทและที่ดินนอกที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยได้ครอบครองมา 23 ปีแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองสำนวนร้องคัดค้านว่าจำเลยนำรังวัดรุกล้ำที่โจทก์ เจ้าหน้าที่อำเภอเรียกโจทก์จำเลยมาทำการเปรียบเทียบได้ตกลงกันตั้งนายมืดจันทร์ชู กำนันตำบลที่พิพาทเป็นพยานคนกลาง หากนายมืดเบิกความว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใด อีกฝ่ายยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายนั้นนายมืดเบิกความต่อหน้าโจทก์จำเลยและกรมการอำเภอว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ที่พิพาทจึงเป็นของจำเลยตามข้อตกลง และกรมการอำเภอก็เปรียบเทียบให้เป็นไปตามข้อตกลงแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องอีกจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เมื่อโจทก์จำเลยได้ตกลงประนีประนอมกันและอำเภอชี้ขาดไปตามคำเบิกความของนายมืดพยานคนกลางแล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์เห็นว่าข้อตกลงเพื่อประนีประนอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ชอบที่ฟ้องขอให้เพิกถอน ไม่ใช่ตั้งรูปคดีเป็นประเด็นขึ้นใหม่ พิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้ โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทของแต่ละคนตลอดมา หลักฐานการเปรียบเทียบชั้นอำเภอไม่ใช่ด้วยความสมัครใจของโจทก์ ปลัดอำเภอเป็นผู้จดบันทึกการประนีประนอมเอาเอง พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่พิพาทแปลงเหนือตามแผนที่กลางนายด้วงโจทก์สำนวนที่สองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองส่วนแปลงใต้ตามแผนที่กลางนายเมฆโจทก์สำนวนแรกเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์จำเลยสมัครใจให้นายมืดเป็นพยานคนกลางชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใด ครั้นต่อมานายมืดชี้ขาดเป็นประโยชน์แก่จำเลย โจทก์จึงโต้แย้งว่าไม่ได้ตกลงเช่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกข้อตกลงที่ทำที่ที่ว่าการอำเภอซึ่งมีความว่า “วันนี้ได้เรียกนายด้วง คงใหม่ นายเมฆ ชูดำ และนายรื่น ทองนวล คู่พิพาทมาทำการเปรียบเทียบเรื่องคัดค้านการขอทำประโยชน์ของนายรื่น ทองนวลคู่พิพาทมาทำการเปรียบเทียบเรื่องคัดค้านการขอทำประโยชน์ของนายรื่น ทองนวล แล้วคู่พิพาทตกลงยินยอมตั้งนายมืด จันทร์ชู กำนันตำบลทะเลน้อยเป็นพยานกลาง หากนายมืดเบิกความเข้าข้างผู้ใดให้ผู้นั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทนี้ จึงพร้อมกันลงชื่อให้ไว้เป็นสำคัญ” นั้น เป็นข้อตกลงซึ่งโจทก์จำเลยต่างยอมรับว่าหากนายมืดชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของผู้ใดแล้ว ก็ให้ผู้นั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จึงเป็นข้อตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องอ้างสิทธิในที่พิพาทของโจทก์ระงับสิ้นไป ทำให้จำเลยได้สิทธิเป็นเจ้าของที่พิพาทตามมาตรา 852 โดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงจะฟ้องขอให้พิพากษาให้ที่พิพาทนั้นเป็นของโจทก์ไม่ได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share