คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3834/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขุดเอาดินลูกรังในที่ดินของโจทก์ไปขาย ถือได้ว่าเป็นการเอาดินลูกรังของโจทก์ไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์และเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจลักเอาดินลูกรังในที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการกระทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 210 ตำบลโคกไทย(โคกปีบ) อำเภอโคกปีบ (ศรีมหาโพธิ์) จังหวัดปราจีนบุรีไปประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ราคา60,000 บาท โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335 และให้จำเลยใช้ราคาดินลูกรังให้โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาทหากไม่ชำระให้จำเลยทำพื้นดินของโจทก์ให้คืนสภาพเดิม โจทก์ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด จำเลยเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 86 ไร่ 2 งาน 20 วา อยู่ที่ตำบลโคกไทย (เดิมตำบลโคกปีบ)อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี ติดต่อกันมาประมาณ 40 ปีโจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง แต่เมื่อ พ.ศ. 2516 โจทก์มีเจตนาทุจริตจะเอาที่ดินของจำเลย จึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 210 สำหรับที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยโดยรวมเอาที่ดินของจำเลยเข้าไปด้วย พ.ศ. 2519 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นหาว่าบุกรุกที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 210 จำเลยสู้การครอบครองศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยอีก ต่อมาเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2527 จำเลยขุดดินลูกรังในที่ดินของจำเลยขายให้นายสำเภา พุทธรักษา ในราคาเพียง 2,250 บาทโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินหรือดินลูกรังที่จำเลยขุดขาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดีต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้คงคืนสภาพเดิมหากจำเลยไม่ปฏิบัติให้จำเลยชำระราคาดินลูกรังให้โจทก์ 6,000 บาทคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาจำเลยเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงนำสืบรับกันแล้วว่าจำเลยขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นไปตามวันเวลาที่กล่าวในฟ้อง ถ้าฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องและจำเลยก็เป็นฝ่ายกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งจำเลยมิได้ติดใจฎีกาคัดค้านในเรื่องค่าดินลูกรังแต่อย่างใด
เกี่ยวกับปัญหานี้ คู่ความรับกันว่าที่ดินพิพาทก็คือที่ดินประมาณ 30 ไร่ ในเขตเส้นสีน้ำเงินซึ่งอยู่นอกเขตเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 ที่ดินในเขตเส้นสีน้ำเงินคือที่ดินที่จำเลยอ้างว่าเป็นของตนอยู่ภายในเขตเส้นสีดำซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของตนตาม น.ส.3 เล่มที่ 210 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 193/2525ของศาลชั้นต้น ที่ดินภายในเส้นสีแดงคือที่ดินที่โจทก์อ้างในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 73/2520 ของศาลชั้นต้นว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของตนและเป็นประเด็นให้ศาลฎีกาพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 193/2525ว่าเป็นของจำเลยมีเนื้อที่ 50 ไร่เศษ ดังนั้น ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวจึงยังมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินพิพาทซึ่งดูตามแผนที่พิพาทประกอบจะเห็นว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างอ้างว่าเป็นของตนจำนวน30 ไร่เศษว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลยเพราะไม่เป็นประเด็นในคดีทั้งสองนั้น ต้องฟังพยานหลักฐานในคดีนี้สืบไป โจทก์มีตัวโจทก์ยืนยันว่าได้รับมรดกเป็นที่ดินแปลงหนึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทจากบิดา สำหรับที่ดินพิพาทได้ให้ผู้อื่นเช่าและให้สามีเข้าทำประโยชน์ต่อเนื่องมาทุกปี ได้แสดงความเป็นเจ้าของหวงแหนมาตลอดด้วยการออก น.ส.3ในที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 210 ฟ้องจำเลยข้อหาบุกรุกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 73/2520 ของศาลชั้นต้น ต่อสู้คดีกรณีจำเลยจะขอโอนที่พิพาทไปจาก น.ส.3 เลขที่ 210 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 193/2525 รวมทั้งฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย โจทก์มีนายบัญญัติสามีโจทก์มาสืบสนับสนุนโดยตลอดสำหรับที่ดินพิพาทนายบัญญัติเบิกความว่าได้จัดให้นายเหลือนายแฉล้มเช่าทำมาจน พ.ศ. 2525แล้วพยานจึงเข้าทำเองอีก 2 ปี โจทก์สืบนายบิน สินเชื้อ และนางพล ภามัง ผู้มีที่ดินทำกินอยู่ข้างเคียงสนับสนุนคำเบิกความของนายบัญญัติไว้ด้วยว่าได้เห็นนายเหลือนายแฉล้มและนายบัญญัติเข้าทำกินในที่ดินพิพาทจริง จำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลยพยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุผลแวดล้อมน่าเชื่อ ส่วนจำเลยมีตัวเองยืนยันว่าบุกเบิกที่ดินพิพาทพร้อมที่ดินส่วนอื่น ๆ รวม86 ไร่ แต่ไม่ได้ขอออก น.ส.3 สำหรับที่ดินให้เป็นหลักฐานเหมือนบุคคลอื่นกลับปล่อยให้โจทก์ออก น.ส.3 ทับที่ของตนได้ นับเป็นพิรุธสำหรับที่ดินพิพาทนั้นจำเลยอ้างว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมาได้ให้นายกมล เสนเชื้อ เช่าปลูกมันสำปะหลัง ค่าเช่า 2,000 บาทต่อปี ปีแรกได้ค่าเช่า 1,500 บาท ปีที่สองได้ 500 บาท เพราะแล้วจัดมันสำปะหลังไม่ได้ถูกไฟไหม้ ส่วนนายกมลเบิกความว่าเช่าที่ดินพิพาทโดยให้ค่าเช่าล่วงหน้า 2,500 บาท ปีที่สองที่เช่าปลูกมันสำปะหลังเสียหายราคาไม่ดี แต่นางมินภรรยาจำเลยกลับเบิกความว่าปีที่สองมันสำปะหลังถูกไฟไหม้และไม่ทราบอัตราค่าเช่า ดังนี้ จะเห็นว่าพยานจำเลยให้การขัดกันในเรื่องอัตราค่าเช่าวิธีชำระ ตลอดจนลักษณะความเสียหายของมันสำปะหลังในปีที่สองที่ว่า ถูกไฟไหม้หรือไม่ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทดังอ้างพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลยิ่งกว่าของจำเลย รับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยนำเนื้อดินคือดินลูกรังในที่ดินพิพาทไปขายแก่ผู้อื่น ก็ถือได้ว่าเป็นการเอาดินลูกรังของโจทก์ไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์และกระทำละเมิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน

Share