แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชำระค่าเสียหายตามสัญญารับขน จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอีกทอดหนึ่ง จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รถโฟร์กลิฟยกเครื่องขัดเรียบลงจากรถยนต์บรรทุกโดยเครื่องขัดเรียบหล่นกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อไปในภายหลังหากศาลพิจารณาให้ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี การเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีก็เพื่อให้ผูกพันในผลแห่งคดี จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยร่วมที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาแม้จำเลยร่วมที่ 2 จะยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา คดีก็ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในปัญหาดังกล่าวและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ชอบเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,238,449.26 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 2,169,788.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ขอให้เรียกบริษัทสหสิน คิวบีอี ประกันภัย จำกัด และบริษัท อี.เอส.แอล. เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกบริษัทสหสิน คิวบีอี ประกันภัย จำกัด และบริษัท อี.เอส.แอล. เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ว่าจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 2,169,788.65 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2538 จนกว่าจะได้ชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538) ให้ไม่เกิน 68,660.61 บาท ตามที่โจทก์ขอ โดยให้จำเลยร่วมที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะได้ชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทมิตราคม จำกัด เป็นเจ้าของเครื่องขัดเรียบรุ่นพีเอสจี 52 ดีเอ็กซ์เอ็นซีเอฟ หมายเลขเครื่อง 52572 ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.19 โจทก์ทำสัญญารับประกันภัยเพื่อความเสียหายของเครื่องขัดเรียบดังกล่าวอันเกิดจากการขนส่งจากโรงงานบริษัทโอกาโมโต้ (ไทย) จำกัด ไปยังงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องโลหะต่าง ๆ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และเดินทางกลับโรงงานหลังการแสดง ในจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย 2,600,000 บาท กำหนดระยะเวลาประกันภัยระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 ให้ไว้แก่บริษัทมิตราคม จำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งในประเทศเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ขนส่งเครื่องจักรต่าง ๆ มาแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตามใบขนย้ายสินค้าต่าง ๆ ใบวางบิลและสำเนาบิลส่งของ/ใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย ล.7 ล.11 และ ล.13 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันภัยเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่สินค้าต่าง ๆ ที่เอาประกันภัยระหว่างการขนส่งไว้กับจำเลยร่วมที่ 1 กำหนดอายุสัญญาประกันภัยระหว่างวันที่ 11 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2538 ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งในประเทศเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รถโฟร์กลิฟยกเครื่องขัดเรียบซึ่งมีผู้นำมาแสดงลงจากรถยนต์บรรทุกที่ลานจอดรถศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อนำไปยังที่แสดงสินค้า แต่เครื่องขัดเรียบดังกล่าวหล่นกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 แจ้งให้จำเลยร่วมทั้งสองทราบแล้ว จำเลยร่วมที่ 1 ให้บริษัทแม็คลาเรนส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจความเสียหายและโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่บริษัทมิตราคม จำกัด จำนวน 2,169,788.65 บาท ตามใบรับช่วงสิทธิความเสียหาย รายงานเรียกร้องให้รับผิดครั้งที่สอง จดหมายเรียกร้องและใบรับช่วงสิทธิเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.15
คดีมีปัญหาที่สมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชำระค่าเสียหายตามสัญญารับขน จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอีกทอดหนึ่ง จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รถโฟร์กลิฟยกเครื่องขัดเรียบลงจากรถยนต์บรรทุก โดยเครื่องขัดเรียบหล่นกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อไปในภายหลังหากศาลพิจารณาให้ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี การเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีก็เพื่อให้ผูกพันในผลแห่งคดี จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยร่วมที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา คดีก็ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในปัญหาดังกล่าวและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ชอบเช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 ว่า สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมที่ 1 คุ้มครองความเสียหายในคดีนี้หรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รถโฟร์กลิฟยกเครื่องขัดเรียบลงจากรถยนต์บรรทุกที่ลานจอดรถศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อนำไปยังที่แสดงสินค้าโดยเครื่องขัดเรียบหล่นกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เห็นว่า แม้ความเสียหายในคดีนี้จะเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รถโฟร์กลิฟยกเครื่องขัดเรียบลงจากรถยนต์บรรทุก อันมิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยรถบรรทุกและตามกรมธรรม์ประกันภัยจะมิได้กำหนดประเภทภัยที่คุ้มครองเกี่ยวกับภัยเพิ่มเติมหรือข้อความเพิ่มเติมพิเศษดังเช่นที่กรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งในประเทศระหว่างโจทก์และบริษัทมิตราคม จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งระบุถึงภัยทั้งปวงดังที่จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์กรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งในประเทศระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งกำหนดประเภทภัยที่คุ้มครองคือคุ้มครองความเสียหายหรือการสูญเสียตามหมวด 1 ข้อ 6 โดยในหมวด 1 สัญญาความคุ้มครอง ข้อ 6 กำหนดว่าความเสียหายหรือการสูญเสียโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วนของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากการเสี่ยงภัยทุกชนิดที่เกิดขึ้นจากเหตุภายนอกของทรัพย์สินนั้น ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนี้จึงอยู่ภายใต้ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งคุ้มครองในความเสียหายหรือการสูญเสียของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากการเสี่ยงภัยทุกชนิดที่เกิดขึ้นจากเหตุภายนอกของทรัพย์สินนั้น จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 กับยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 ให้เป็นพับ