แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การค้ำประกันเป็นสิทธิในทางแพ่ง ต้องใช้กฎหมายในขณะเกิดเหตุหรือเกิดความเสียหาย
การที่ประกาศฯ ข้อ 12 ที่ว่านายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากลูกจ้างเป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำประกันไว้มีมูลค่าเกินว่า 60 เท่าของค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่เกินกว่าจำนวนมูลค่าของหลักประกันที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติให้นายจ้างดำเนินการหลังจากประกาศฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ให้ประกาศฯ มีผลย้อนหลัง
ตาม ข้อ 2 ระบุให้ประกาศฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ก. ลูกจ้างของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ต้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลย (ผู้ค้ำประกันการทำงานของ ก.) ได้ทำกับโจทก์ไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 260,550.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 27 กรกฎาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 โจทก์จ้างนายโกวิทย์เป็นพนักงานขับรถเซมิเทเลอร์ โดยมีจำเลยทำสัญญาค้ำประกันการทำงานโดยไม่จำกัดจำนวน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2551 นายโกวิทย์ขับรถยนต์บรรทุกแบบหัวพ่วงลากกระบะบรรทุก 18 ล้อ ของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้ชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 84-4881 นครราชสีมา และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 85-3382 นครราชสีมา ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 240,306 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนายโกวิทย์เมื่อนายโกวิทย์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน แต่จำนวนความรับผิดนั้น ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” และตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ข้อ 11 และข้อ 12 กำหนดไว้ว่า “ข้อ 11 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันตามข้อ 5 หลายประเภทรวมกัน เมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ” และ “ข้อ 12 ในกรณีที่นายจ้างได้เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างเป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำประกัน ซึ่งลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามข้อ 4 แต่มิใช่ทรัพย์สินตามข้อ 9 หรือมีจำนวนมูลค่าของหลักประกันเกินจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินจำนวนมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ทั้งนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ” จากหลักเกณฑ์ของประกาศดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ปรากฏว่านายโกวิทย์ผู้เป็นลูกจ้างของโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่นายโกวิทย์ได้รับจึงเป็นเงินจำนวน 6,000 บาท ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามประกาศของกระทรวงแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ข้อ 12 ระบุเพียงว่าหากนายจ้างมีการทำสัญญาประกันการทำงานมีมูลค่าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินจำนวนมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับเท่านั้น หาได้มีบทบังคับว่าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่จัดให้มีการทำสัญญาประกันแบบใหม่ตามที่ประกาศกำหนด ก็ให้ถือเอาเจตนาของประกาศดังกล่าวมาบังคับใช้แทนสัญญาค้ำประกันฉบับเดิมนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับได้ทันที อีกทั้งสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ได้ทำไว้ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2544 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในปี 2551 และหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่นายโกวิทย์ กระทำละเมิดต่อโจทก์ขณะปฏิบัติงานในหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อหนังสือค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีการยกเลิกรวมทั้งไม่มีการทำสัญญาฉบับใหม่ขึ้นภายหลังที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ก็ย่อมถือว่าจำเลยยังมีผลผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับเดิมตามที่จำเลยได้ทำกับโจทก์ไว้ จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ตามฟ้องจากจำเลยจนสิ้นเชิง หาใช่ให้ถือเอาเจตนาของประกาศฉบับใหม่มาบังคับใช้แก่กรณีของโจทก์และจำเลยได้ทันที โดยให้รับผิดเพียงจำนวน 6,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างเฉลี่ยรายวันของนายโกวิทย์เช่นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ไม่ เห็นว่า เรื่องการค้ำประกันเป็นสิทธิในทางแพ่งจึงไม่อาจนำกฎหมายที่เป็นคุณมาใช้บังคับย้อนหลังได้ ต้องใช้กฎหมายในขณะเกิดเหตุหรือเกิดความเสียหาย กล่าวคือความเสียหายเกิดขึ้นในวันใดต้องใช้กฎหมายที่มีผลในขณะนั้นใช้บังคับ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ข้อ 12 แล้ว ก็ปรากฏเพียงว่าในกรณีที่นายจ้างรายใดเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากลูกจ้างเป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำประกันไว้มีมูลค่าเกินกว่า 60 เท่า ของค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยอยู่ก่อนวันที่ประกาศใช้บังคับ เมื่อประกาศมีผลใช้บังคับ ก็ให้นายจ้างนั้นดำเนินการให้มีหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่เกินกว่าจำนวนมูลค่าของหลักประกันที่กำหนดไว้ในประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติให้นายจ้างดำเนินการหลังจากประกาศมีผลใช้บังคับแล้ว มิใช่กรณีที่ให้ประกาศมีผลย้อนหลังแต่ประการใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประกาศในข้อ 2 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า “ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” ซึ่งได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 จึงมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าว นายโกวิทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์วันที่ 3 มิถุนายน 2551 ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจึงไม่อาจนำประกาศมาใช้บังคับ แต่ต้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยได้ทำกับโจทก์ไว้ ที่ศาลแรงงานกลางนำประกาศมาใช้บังคับย้อนหลังศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 240,306 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 27 กรกฎาคม 2552) ต้องไม่เกิน 20,244.95 บาท ตามที่โจทก์ขอ