คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10741/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 22 ทำสัญญาเช่าถังแก๊สจำนวน 42 ฉบับ กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 โดยไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันในทางการค้าอย่างแท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 22 อ้างสัญญาเช่าถังแก๊สอันเป็นเท็จดังกล่าว เพื่อตกแต่งบัญชีโดยสั่งให้บันทึกรายได้ค่าเช่าถังแก๊สลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 แล้วนำรายได้นั้นจัดทำและส่งเป็นงบการเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 22 มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 22 สูงขึ้น จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 องค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่า สัญญาเช่าถังแก๊สดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่แท้จริง แต่ทำขึ้นเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 22 อาศัยสัญญาเช่าไปบันทึกลงในบัญชีและงบการเงินว่าจำเลยที่ 22 มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าความเป็นจริง งบการเงินนั้นเมื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว หลังจากนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลประกอบการของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนาเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้ว และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยที่ 21 โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง จัดทำหรือยินยอมให้จัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ว่าที่ประชุมอนุมัติให้นิติบุคคลทั้ง 2 ราย กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จ แล้วจำเลยที่ 22 ส่งบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง และการร่วมกันจัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้วอีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 แม้ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและการทำงบการเงินของจำเลยที่ 22 ด้วย แต่การทำสัญญาเช่าถังแก๊สที่ไม่จริงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้อาศัยสัญญาเช่าที่ไม่จริงหรือเป็นเท็จไปลงในบัญชีของจำเลยที่ 22 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินอันเป็นเท็จเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ทั้งที่ไม่มีการกู้เงินกันจริง จำเลยที่ 10 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้แต่ไม่เคยได้รับเงินกู้เลยย่อมรู้ว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 10 และที่ 21 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตาม มาตรา 312 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 21 จึงมีความผิดตาม มาตรา 315
ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 หมวด 12 การควบบริษัท บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการในการควบบริษัท โดยในมาตรา 151 และ 152 กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทที่ควบกันแล้วต้องขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกรณีจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาตาย การควบบริษัทมีผลให้จำเลยที่ 22 หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมายและตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ที่กำหนดว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดก็หาได้กำหนดถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลควบบริษัทด้วยไม่ บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม มาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 การที่จำเลยที่ 22 ได้ควบบริษัทกับบริษัท ว. และเกิดเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ด. ความรับผิดทางอาญาของจำเลยที่ 22 จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบสองตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56, 274, 307, 308, 311, 312, 313 และ 315 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
จำเลยทั้งยี่สิบสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56 (1) ถึง (3) ประกอบมาตรา 312 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 จำเลยที่ 22 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56 (1) ถึง (3) ประกอบมาตรา 274 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานเป็นกรรมการของบริษัทมหาชนจำกัด ร่วมกันทำหรือยินยอมให้ทำบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง หรือเป็นเท็จเพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 ปี รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี ความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำความผิดตามมาตรา 312 จำคุกจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 คนละ 5 ปี ปรับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 21 นิติบุคคลคนละ 600,000 บาท ความผิดฐานเป็นบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่รายงานงบการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ปรับจำเลยที่ 22 จำนวน 100,000 บาท คำขอและข้อหาอื่นให้ยก ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 21 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 7 และที่ 8 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 7 และที่ 8 เสียจากสารบบความศาลฎีกา ส่วนทนายจำเลยที่ 22 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยฐานะนิติบุคคลของจำเลยที่ 22 เนื่องจากจำเลยที่ 22 ควบบริษัทกับบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด เกิดเป็นบริษัทใหม่ชื่อ บริษัทดับบิลพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 22 จึงหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 22 ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงบรรจุแก๊สปิโตรเลี่ยมเหลว จำเลยที่ 22 เป็นผู้ค้าแก๊สรายใหญ่จะจัดหาถังแก๊สให้แก่โรงบรรจุแก๊สซึ่งเป็นผู้ค้าส่งลำดับรองลงมายืมถังแก๊สโดยเรียกค่ามัดจำถังแก๊สไว้ เงินมัดจำดังกล่าวเดิมจำเลยที่ 22 ต้องนำลงไว้ในหมวดหนี้สินของบัญชีงบดุล เมื่อลูกค้าส่งคืนถังแก๊สสามารถเรียกมัดจำคืนได้ทันที ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 จำเลยที่ 22 เปลี่ยนวิธีการวางมัดจำเป็นการเช่าถังแก๊ส โดยจำเลยที่ 22 ทำสัญญาเช่าถังแก๊สกับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 รวมทั้งสิ้น 42 ฉบับ หลังจากนั้นจำเลยที่ 22 นำเงินค่าเช่าถังแก๊สลงบัญชีแยกประเภทประจำเดือนเมษายนถึงธันวาคม 2547 และนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 และที่ 3 กับงบการเงินประจำปี 2547 ของจำเลยที่ 22 ซึ่งผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีแล้ว โดยนำรายได้ที่ลงในบัญชีแยกประเภทมาลงในงบกำไรขาดทุนว่า ปี 2547 จำเลยที่ 22 มีกำไร 178,440,072 บาท ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และจำเลยที่ 22 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาให้กู้ยืมเงินแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรอุมาการก่อสร้าง จำนวน 77,000,000 บาท แบ่งจ่ายเงินให้แก่ผู้กู้เป็น 2 งวด งวดแรกจำนวน 60,000,000 บาท งวดที่สอง 17,000,000 บาท โดยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเอายอดหนี้เงินกู้ไปลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 และวันที่ 9 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 22 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาให้กู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 21 โดยจำเลยที่ 10 เป็นผู้แทนนิติบุคคล จำนวน 389,286,000 บาท แบ่งจ่ายเงินให้แก่ผู้กู้ 7 งวด งวดที่ 7 จำนวนเงิน 25,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเอายอดหนี้เงินกู้ไปลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำรายงานการประชุมของคณะกรรมการจำเลยที่ 22 ครั้งที่ 17/2547 ซึ่งมีข้อความระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการได้อนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรอุมาการก่อสร้าง กู้ยืมเงิน 300,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 21 กู้ยืมเงิน 400,000,000 บาท ไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่าปริมาณถังแก๊สที่เป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่าไม่ถูกต้องตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างและไม่อยู่ในวิสัยที่จะส่งมอบกันได้จริง โดยได้ความจากนางสาววันทสินี พยานโจทก์ว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 จำเลยที่ 22 มีถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม จำนวน 119,259 ถัง ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 22 ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่สัญญาเช่า 42 ฉบับ ระบุจำนวนถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม มีทั้งสิ้น 181,040 ถัง แสดงให้เห็นว่า ถังขนาด 48 กิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นถังเก่าหรือถังใหม่รวมกันแล้วมีน้อยกว่าจำนวนถังที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าถึง 61,781 ถัง และได้ความจากนางสาวศิริภรณ์ ผู้สอบบัญชีของจำเลยที่ 22 ว่า ปี 2547 จำเลยที่ 22 ซื้อถังแก๊สจากผู้ผลิต 4 ราย ถึง 5 ราย เป็นถังขนาด 4 กิโลกรัม ขนาด 15 กิโลกรัม และขนาด 48 กิโลกรัม มียอดรวมสั่งซื้อทั้งสิ้น 2,000,000 ถัง มูลค่าประมาณ 1,800,000,000 บาท โดยซื้อจากผู้ผลิตรายบริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด เป็นเงินประมาณ 1,300,000,000 บาท นายธีระชัย ผู้สอบบัญชีจำเลยที่ 22 เป็นกรณีพิเศษ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 5 ชี้แจงว่าจำเลยที่ 22 จะให้โรงบรรจุแก๊สยืมถังเก่า ส่วนถังใหม่จะให้เช่า จำเลยที่ 22 ได้ว่าจ้างบริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด ผลิตถังใหม่มีมูลค่าประมาณ 1,300,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทผลิตถังแก๊สดังกล่าว แต่จากหลักฐานปรากฏว่าบริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด แจ้งต่อนิคมอุตสาหกรรมบางชันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ว่าขอเริ่มการผลิตถังแก๊ส ขนาด 4 กิโลกรัม โดยในบัญชีผลิตภัณฑ์และวัตถุพลอยได้ที่ยื่นประกอบคำขอระบุว่าบริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด มีปริมาณการผลิตเพียง 132,000 ถัง ต่อปี เท่านั้น ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 นิคมอุตสาหกรรมบางชันได้ออกใบอนุญาตผลิตถังแก๊ส ขนาด 4 กิโลกรัม ให้แก่บริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด โดยโจทก์มีนางสมรศรี ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เบิกความยืนยันเอกสารดังกล่าว และยังได้ความจากพันตำรวจโทไกรวิทย์ พนักงานสอบสวน ว่า จากการตรวจค้นสถานที่ทำการของบริษัทแสงทองไทยผลิตถัง จำกัด พบว่าบริษัทดังกล่าวผลิตถังแก๊สขนาด 4 กิโลกรัม เพียงชนิดเดียว และไม่ปรากฏว่าบริษัทนี้มีสาขาอื่นอีก พันตำรวจตรีเทอดเกียรติ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เบิกความว่า ตามสัญญาเช่าถังแก็สทั้ง 42 ฉบับ ระบุว่าโรงบรรจุแก๊สทั้ง 10 โรง ได้รับถังแก๊สไปทั้งหมดแล้ว พยานจึงตรวจสอบความมีอยู่จริงของถังแก๊ส พบว่าปี 2547 บริษัทผู้ผลิตถังแก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม มี 3 ราย ได้แก่ บริษัทสหมิตรถังแก๊ส จำกัด บริษัมเมทเทิลเมท จำกัด และบริษัทชื่นศิริ จำกัด ขายให้จำเลยที่ 22 จำนวน 538,748 ถัง แต่สัญญาเช่าถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม มีจำนวน 868,500 ถัง ส่วนถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม บริษัทสหมิตรถังแก๊ส จำกัด และบริษัทชื่นศิริ จำกัด ขายให้จำเลยที่ 22 จำนวน 62,729 ถัง แต่สัญญาเช่าถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม มีจำนวน 181,040 ถัง ดังนั้นจำนวนถังแก๊สทั้งหมดที่ผู้ผลิตทั้ง 3 ราย ส่งมอบให้จำเลยที่ 22 จึงมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนถังแก๊สที่ระบุในสัญญาเช่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบและฎีกาว่า ปริมาณถังแก๊สที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 22 เป็นถัง 15 กิโลกรัม จำนวน 2,340,365 ถัง เป็นถัง 48 กิโลกรัม จำนวน 278,518 ถัง มิได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ปรากฏในสัญญาเช่านั้น เห็นว่า ปริมาณถังแก๊สที่ฝ่ายจำเลยนำสืบรวมถังเก่าและถังใหม่เข้าด้วยกัน แต่สัญญาเช่าถังแก๊สเป็นถังใหม่ ส่วนถังเก่าให้ยืม มิได้ให้เช่า พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ โจทก์นำสืบต่อไปว่า เงินที่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ชำระค่าเช่าถังแก๊สให้แก่จำเลยที่ 22 นั้นล้วนเป็นเงินที่มาจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น โดยได้ความจากนางสาววันทสินีว่า ก่อนครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาเช่าแต่ละครั้งและทุกเดือน จำเลยที่ 1 จะถอนเงินออกจากบัญชีออมทรัพย์มาไว้ในบัญชีกระแสรายวันของตนเอง แล้วจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้จำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 หลังจากนั้นจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 จะสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเช่าถังแก๊สให้แก่จำเลยที่ 22 นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานทางธนาคารว่าบัญชีของจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ช่วงก่อนชำระค่าเช่าทุกครั้งมีเงินคงเหลือในบัญชีเพียงหลักหมื่นหรือหลักแสนเท่านั้น แต่ค่าเช่าแต่ละครั้งเป็นเงิน 1,800,000 บาทขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ไม่มีความสามารถในการชำระค่าเช่าได้ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบและฎีกาว่าเช็คที่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 18 จ่ายเป็นค่าเช่าถังแก๊สให้แก่จำเลยที่ 22 นั้น ไม่ใช่เงินที่รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 แต่เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โรงบรรจุแก๊สในกลุ่มของจำเลยที่ 5 เพราะโรงบรรจุแก๊สกลุ่มของจำเลยที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินถึง 13 ครั้ง นอกจากนี้จำเลยที่ 22 ยังได้หักภาษีการเช่าถังแก๊สนำส่งกรมสรรพากร จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินส่วนตัวจำนวนถึง 163,000,000 บาท เพียงเพื่อคาดหมายว่ามูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 22 จะปรับตัวสูงขึ้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้เงินกู้นั้นง่ายต่อการกล่าวอ้าง อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน ส่วนการหักภาษีการเช่านำส่งสรรพากรนั้นก็เพื่อให้สมจริงว่ามีรายได้จากการให้เช่าถังแก๊สจริง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อย สำหรับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษ ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าสัญญาเช่า 42 ฉบับ ระหว่างจำเลยที่ 22 กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ไม่ใช่สัญญาที่แท้จริง แต่ทำขึ้นเพียงเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 22 อาศัยสัญญาเช่าไปบันทึกลงในบัญชีและงบการเงินว่าจำเลยที่ 22 มีรายได้เพิ่มขึ้น 178,440,072 บาท มากกว่าความเป็นจริง งบการเงินนั้นเมื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ต.ล. แล้ว หลังจากนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลประกอบการของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนาเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 312 แล้วกระทงหนึ่ง
กรณีการให้กู้ยืมเงิน เห็นว่า โจทก์มีนางสาววันทสินี กับนายปัญญาภรณ์ เจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และนางสาวศิราภรณ์ ผู้สอบบัญชีของจำเลยที่ 22 เป็นพยานเบิกความยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินพบว่าเช็คเงินกู้งวดแรกจำนวน 60,000,000 บาท ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ซึ่งตามบัญชีของจำเลยที่ 22 บันทึกว่าสั่งจ่ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรอุมาการก่อสร้าง เป็นเงินให้กู้ กลับถูกออกโดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน และมีการนำเช็คเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และจากการสอบถ้อยคำนางสาวอรอุมาในช่วงเวลาดังกล่าว นางสาวอรอุมายอมรับว่ามีการลงนามในสัญญากู้จริง โดยมีบุคคลไม่ขอเอ่ยนามให้ลงลายมือชื่อ แต่ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ ต่อมานางสาวอรอุมาขายห้างหุ้นส่วนของตนให้แก่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งไปเป็นเงิน 50,000,000 บาท แม้ในชั้นพิจารณานางสาวอรอุมาเบิกความต่อศาลว่า เพิ่งทราบว่านายชลอผู้เป็นสามีกู้เงินจากจำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 22 จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อคืนเงินกู้ก็ตาม แต่คำเบิกความของนางสาวอรอุมาไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่พยานเบิกความ ประกอบกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ขัดต่อเหตุผลและง่ายต่อการกล่าวอ้างจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 22 กับจำเลยที่ 21 นั้น จากการตรวจสอบของพยานโจทก์พบว่าจำเลยที่ 22 จ่ายเงินกู้เป็นเช็ค 7 ฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดเลยที่จ่ายให้แก่จำเลยที่ 21 ซึ่งผิดปกติวิสัยที่ผู้กู้ไม่ได้รับเงินกู้เลยทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 21 จะต้องนำเงินที่กู้ไปซื้อวัสดุก่อสร้าง ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 21 มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท ไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้เงินกู้ได้ถึง 389,286,000 บาท ได้ และการกู้เงินจำนวนมากกลับไม่มีทรัพย์สินใดเป็นหลักประกัน คงมีเพียงคำมั่นจากจำเลยที่ 22 เพียงอย่างเดียวว่าจะให้จำเลยที่ 21 รับงานก่อสร้าง แต่หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน ก็มีการยกเลิกสัญญา ไม่มีการก่อสร้างจริง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าไม่มีการกู้เงินกันจริงทั้ง 2 ราย ดังนั้นการนำยอดหนี้เงินกู้ทั้ง 2 ราย ลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 และการจัดทำบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ครั้งที่ 17/2547 ว่า คณะกรรมการอนุมัติให้ทั้ง 2 รายกู้ จึงเป็นการลงข้อความเท็จในบัญชีและเอกสารของนิติบุคคล สำหรับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 312 ข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษ ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าร่วมกันกระทำโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการอนุมัติให้กู้เงินจริงและมีการกู้ยืมเงินตามที่ได้รับการอนุมัติ ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 312 แล้วอีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้บริหารของจำเลยที่ 22 กระทำความผิดเสียเอง จึงไม่มีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนใดไปแจ้งความว่าได้รับความเสียหาย แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ของกรรมการโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308, 311 และ 313 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่อัยการสูงสุดไม่ได้รับรองให้ฎีกาในความผิดฐานดังกล่าว อันมีผลทำให้ความผิดฐานดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์จะแก้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามมาตรา 307, 308, 311 และ 313 ไม่ได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 กับที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 ว่า จำเลยดังกล่าวกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงแยกออกเป็นสองกรณี กรณีแรก เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า ปริมาณถังแก๊สที่เป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากถังแก๊สที่จำเลยที่ 22 ครอบครองมีจำนวนน้อยกว่าที่ระบุในสัญญาเช่า จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะส่งมอบกันได้จริง สัญญาเช่าถังแก๊สทั้ง 42 ฉบับ ระหว่างจำเลยที่ 22 กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ไม่ใช่สัญญาที่มีผลผูกพันกันอย่างแท้จริง และเงินที่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ชำระค่าเช่าถังแก๊สให้แก่จำเลยที่ 22 ล้วนเป็นเงินที่มาจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 และได้ลงนามในสัญญาเช่า 3 ฉบับ จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 16 ถึง 18 ลงนามในสัญญาเช่า 15 ฉบับ จำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 19 ลงนามในสัญญาเช่า 3 ฉบับ จำเลยที่ 9 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 14 ลงนามในสัญญาเช่า 3 ฉบับ อีก 12 ฉบับ เป็นผู้เช่ารายอื่น และยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของหรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 ในสัดส่วน 30 : 20 : 50 จำเลยที่ 5 รู้จักจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว และจำเลยที่ 2 ชวนมาเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 6 และที่ 9 รับจ้างจำเลยที่ 5 มาเป็นกรรมการของโรงบรรจุแก๊สดังกล่าว ดังนั้นจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 9 ในฐานะผู้ถือหุ้นและในฐานะกรรมการของจำเลยว่าเป็นนิติบุคคลดังกล่าว ย่อมจะต้องรับรู้ปริมาณถังแก๊สที่ตนรับมอบว่าไม่มีอยู่จริงหรือมีจำนวนไม่เพียงพอตามสัญญาเช่า และรู้ว่าคู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันและปฏิบัติตามสัญญา ถึงแม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและการทำงบการเงินของจำเลยที่ 22 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้พ้นผิด เพราะการทำสัญญาเช่าที่ไม่จริงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้อาศัยสัญญาเช่าที่ไม่จริงหรือเป็นเท็จไปลงในบัญชีของจำเลยที่ 22 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 9 ที่ขอให้ศาลฎีกาลดโทษลงและรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 9 นั้น เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 315 ระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 312 คือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 9 มีกำหนด 5 ปี จึงเป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำสุดแล้ว ไม่สามารถลดโทษลงได้มากกว่านี้ ทั้งพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 9 เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 9 จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 9 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
กรณีที่สองจำเลยที่ 10 และที่ 21 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามมาตรา 312 โดยการทำบัญชีและบันทึกข้อความในเอกสารของจำเลยที่ 22 ว่า จำเลยที่ 22 ให้ห้างหุ้นส่วน อรอุมาการก่อสร้าง กับจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินอันเป็นเท็จ เพื่อลวงบุคคลใด ๆ หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ข้างต้นว่าสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 22 กับห้างหุ้นส่วนจำกัด อรอุมาการก่อสร้าง กับสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 22 กับจำเลยที่ 21 นั้น ไม่มีการกู้เงินกันจริง ดังนั้นการนำยอดหนี้เงินกู้ดังกล่าวลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 และการจัดทำบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ครั้งที่ 17/2547 ว่า คณะกรรมการอนุมัติให้ทั้ง 2 รายกู้ จึงเป็นการลงข้อความเท็จในบัญชีและเอกสารของนิติบุคคล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการอนุมัติให้กู้เงินจริงและมีการกู้ยืมเงินตามที่ได้รับการอนุมัติ จำเลยที่ 21 โดยจำเลยที่ 10 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ แต่ไม่เคยได้รับเงินกู้เลยย่อมรู้ว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 10 และที่ 21 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นกรรมการของนิติบุคคลลงข้อความเท็จในบัญชีและเอกสารของนิติบุคคล เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ที่จำเลยที่ 10 และที่ 21 ฎีกามานั้นฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาปรับจำเลยที่ 22 เป็นรายวัน ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 หมวด 12 การควบบริษัท บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการในการควบบริษัทโดยในมาตรา 151 และ 152 กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทที่ควบกันแล้วต้องขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกรณีจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาตาย การควบบริษัทมีผลให้จำเลยที่ 22 หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมาย และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ที่กำหนดว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดก็หาได้กำหนดถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลควบบริษัทด้วยไม่ บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมด ตามมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ข้ออ้างตามคำร้องฟังไม่ขึ้น ในส่วนของปัญหาค่าปรับรายวันนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษปรับรายวันเพราะเหตุว่าโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 22 ฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 56 (1) ถึง (3) เป็นเวลานานเท่าใดถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษปรับรายวันตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 22 จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ของปี 2547 และงบการเงินประจำปี 2547 ต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2547 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 และวันที่ 2 มีนาคม 2548 ตามลำดับ โดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางบัญชีตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ.40/2540 ดังนั้นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2547 แต่ต่อมาจำเลยที่ 22 ได้แก้ไขงบการเงินและยื่นงบการเงินฉบับแก้ไขต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2548 ระยะเวลาที่จำเลยที่ 22 ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องจึงนับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2547 จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2548 ศาลฎีกาเห็นควรปรับเป็นรายวันอีกวันละ 1,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ลงโทษปรับรายวันจำเลยที่ 22 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ความผิดตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นิติบุคคล ส่วนมาตรา 312 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 56 (1) ถึง (3) ประกอบมาตรา 312 ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขปรับบทเสียใหม่ให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 312 ให้ปรับจำเลยที่ 22 เป็นรายวันอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2548 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share