คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทุกคนซึ่งเป็นกรรมการของมัสยิดกุฎีหลวงได้สมคบกับยักยอกทรัพย์สินของมัสยิดซึ่งเป็นนิติบุคคล ฉะนั้น ผู้เสียหายในคดีนี้ก็คือมัสยิดกุฎีหลวงและผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนได้ก็ต้องเป็นกรรมการของมัสยิดตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 7 โจทก์มีฐานะเป็นแต่เพียงสัปบุรุษและผู้รับมอบอำนาจจากสัปบุรุษเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการในกิจการและทรัพย์สินของมัสยิดแต่ประการใด จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) ไม่มีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์กล่าวหาว่ากรรมการมัสยิดทั้งชุดสมคบกันทำให้มัสยิดเสียหายถึงหากจะเป็นความจริง ก็มีทางแก้ได้โดยให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดถอดถอนกรรมการมัสยิดเสียตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 แต่จะฟ้องเองโดยลำพังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และผู้รับมอบอำนาจเป็นสัปบุรุษประกอบศาสนกิจประจำอยู่ในมัสยิดกุฎีหลวงซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยทุกคนได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้เป็นกรรมการมีหน้าที่บริหารงานและมีหน้าที่ครอบครองทรัพย์สินของมัสยิด จำเลยทุกคนได้สมคบกันกระทำความผิดนำเอาที่ดินของมัสยิดกุฎีหลวงไปจำนองและสมคบกันเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นของตนหรือบุคคลอื่นเสียโดยทุจริต สัปบุรุษของมัสยิดทุกคนได้รับความเสียหาย จึงมอบอำนาจให้โจทก์ร้องเรียนเรื่องนี้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๐, ๘๓ และ ๙๑
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่โจทก์กล่าวว่ามัสยิดเป็นนิติบุคคล จำเลยทั้งหมดมีหน้าที่บริหารงานของมัสยิด โจทก์หรือผู้ที่มอบอำนาจเป็นเพียงสัปบุรุษมิได้มีหน้าที่ในการดำเนินงานแทนมัสยิดแต่อย่างใด ทรัพย์สินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยยักยอกนั้นเป็นทรัพย์สินของมัสยิด โจทก์และผู้รับมอบอำนาจจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทุกคนซึ่งเป็นกรรมการมัสยิดกุฎีหลวงได้สมคบกันยักยอกทรัพย์สินของมัสยิดซึ่งเป็นนิติบุคคล ฉะนั้น ผู้เสียหายในคดีนี้ก็คือมัสยิดกุฎีหลวงและผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนได้ก็ต้องเป็นกรรมการของมัสยิดตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ โจทก์มีฐานะเป็นแต่เพียงสัปบุรุษและผู้รับมอบอำนาจจากสัปบุรุษเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการในกิจการและทรัพย์สินของมัสยิดแต่ประการใด จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ (๓) ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์กล่าวหาว่ากรรมการมัสยิดทั้งชุดสมคบกันทำให้มัสยิดเสียหาย ถึงหากจะเป็นความจริง ก็มีทางแก้ได้โดยให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดถอดถอดนกรรมการมัสยิดเสีย ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่จะฟ้องเองโดยลำพังไม่ได้
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share