แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้วจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังนี้ หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่และกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม)และเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย หากโจทก์มิได้ฟ้องทายาทของจำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1ถึงแก่ความตาย หนี้รายนี้ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันอาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 โดยไม่จำเป็นว่าจำเลยที่ 2จะต้องเป็นบุคคลตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์นิสสันกระบะ 1 คันจากโจทก์ในราคา 160,000 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเป็นเงิน60,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวด งวดละ 8,300 บาทงวดสุดท้าย 8,700 บาท ตกลงชำระภายในวันที่ 1 ของทุกเดือนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 และต่อมารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 โดยต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่อีก 83,400 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 83,400 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การมอบอำนาจไม่ถูกต้อง รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ตายและฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดเกิน 2 ปี นับแต่สัญญาเช่าซื้อระงับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน83,400 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวน 83,400 บาทตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ซึ่งกำหนดว่า “ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ” เห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่เพราะตามสัญญาข้อนี้ มิได้ระบุให้เช่าซื้อผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวเป็นงวด ๆ ดังกรณีที่สัญญาเช่าซื้อยังไม่สิ้นสุดลงในกรณีที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา164 เดิม หาใช่มีอายุความ 2 ปีดังจำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความในกรณีดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อที่ว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่11 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทของจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเช่าซื้อตามฟ้องภายใน1 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า หากโจทก์ได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจริงแต่โจทก์มิได้ฟ้องทายาทของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย หนี้รายนี้ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ผู้ค้ำประกันอาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 694 บัญญัติว่า “นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย” ดังนั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ แม้คดีนี้ไม่ใช่คดีมรดก แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ในเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 694 ดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวกับว่า จำเลยที่ 2 จะต้องเป็นบุคคลตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 เท่านั้นที่จะยกอายุความดังกล่าวได้ดังคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกอายุความในเรื่องนี้ได้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ในส่วนที่จำเลยที่ 2ยกอายุความในเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ได้ฟังขึ้น แต่เกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 ดังฎีกาของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน เห็นว่า โจทก์มีนายสมหมาย สิริยานนท์ เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายจากรายงานการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงได้ให้พนักงานของโจทก์ไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วจริงโจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการนำสืบว่าโจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายภายหลังจากโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้แล้วโจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 มกราคม2528 จำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้ผู้จัดการสาขาของโจทก์รู้แล้วผู้จัดการสาขาของโจทก์ได้ไปร่วมงานศพ จำเลยที่ 1 ด้วย แต่จำเลยที่ 2ไม่มีผู้จัดการสาขาของโจทก์ดังกล่าวมาเป็นพยานสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้ผู้จัดการสาขาของโจทก์นั้นรู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้ง ๆ ที่นายสมหมายพยานโจทก์ก็ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านไว้ว่า โจทก์ไม่มีสำนักงานสาขาดังกล่าวอีกทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าโจทก์มีสำนักงานสาขาที่ผู้จัดการสาขาดังกล่าวได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ พยานจำเลยที่ 2จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 นับถึงวันฟ้องพ้นกำหนด1 ปีแล้ว ดังนั้นที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความในเรื่องนี้ ขึ้นต่อสู้โจทก์ว่า โจทก์ได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 นับถึงวันฟ้องพ้นกำหนด 1 ปีแล้วจึงฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน