คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยสุจริตก่อนโจทก์นำยึดที่พิพาทนี้ หลังจากโจทก์นำยึดที่พิพาทแล้วจำเลยจึงไปทำนิติกรรมโอนที่พิพาทให้ผู้ร้อง ดังนี้ ย่อมถือว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทยังไม่โอนไปยังผู้ร้องในขณะที่ถูกยึด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลย แต่ทรัพย์รายการอันดับ ๓ เป็นที่ดินของผู้ร้อง ซื้อจากจำเลย ๔,๔๐๐ บาท ได้ทำหนังสือซื้อขายจดทะเบียนนิติกรรมถูกต้อง ขอให้สั่งปล่อยทรัพย์
โจทก์ให้การว่า เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีแล้ว จำเลยกับผู้ร้องสมคบกันแสร้งทำสัญญาซื้อขาย แล้วสมยอมให้โจทก์ฟ้องจำเลย จำเลยทำยอมความ นำคำพิพากษาไปโอนกันที่อำเภอในระยะเวลาที่คดีโจทก์อยู่ระหว่างบังคับคดี ผู้ร้องรับโอนโดยไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เดิมที่พิพาทเป็นของบิดามารดา บิดามารดาตายตกได้แก่บุตร ๓ คน คือ โจทก์ – นายบัว และนางปอย ภริยาจำเลย จำเลยเป็นหนี้โจทก์ โจทก์ฟ้องและศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน จำเลยไม่ใช้ โจทก์นำยึดนาพิพาทเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑ โจทก์ไม่ทราบการซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลย
ผู้ร้องนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้ผู้ร้องเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ กำหนดจะไปโอนภายใน ๗ วัน ครบกำหนดแล้วไม่ไปโอน ผู้ร้องจึงฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑ รุ่งขึ้นจำเลยทำยอมความต่อศาลยอมไปจดทะเบียนนิติกรรมโอนให้ภายใน ๓ วัน แล้วจำเลยก็ไปทำสัญญาจดทะเบียนขายที่พิพาทให้โจทก์ที่อำเภอเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๑
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยกับผู้ร้องจะทำสัญญาจะซื้อขายกันโดยสุจริตก่อนโจทก์ยึด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ก็ยังไม่โอนไปยังผู้ร้อง ขณะที่โจทก์นำยึดทรัพย์พิพาทยังเป็นของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๕ (๑) การที่จำเลยก่อให้เกิดการโอนหรือเปลี่ยนแปลงในทรัพย์พิพาทภายหลังที่โจทก์ได้ยึดไว้แล้วนั้นหาอาจใช้ยันแก่โจทก์ได้ไม่ จำเลยไปทำนิติกรรมโอนที่พิพาทให้ผู้ร้องหลังวันยึด จึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท
พิพากษายืน.

Share