คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2481

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภรรยาได้รับมอบหมายโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้รักษาทรัพย์ไว้แทนผู้เยาว์ โดยสามีได้ร่วมรู้เห็นด้วยต้องถือว่าสามีอนุญาตให้ภรรยาทำการอันเป็นการผูกพันสินบริคณห์ ซึ่งสามีภรรยาจะต้องร่วมกันรับผิดใช้หนี้จากสินบริคณห์
การที่ภรรยาได้รับมอบหมายโดยพินัยกรรมให้จัดการทรัพย์สินโดยสามีได้รู้เห็นยินยอมด้วยนี้ ไม่ใช่หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันหรือหนี้สามีภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบันตามประมวลแพ่งฯ ม.1482 (3)(4)

ย่อยาว

ได้ความว่าเดิม จ.ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้นางสิทธิสุวรรณพงษ์และคนอื่นๆ รวมทั้งนางสาวสุมาลีด้วย ส่วนของนางสาวสุมาลีคือเงิน ๑๐๐๐ บาท ตามพินัยกรรมให้เป็นภาระแก่นางสิทธิฯ จัดการรักษราไว้และจ่ายให้เมื่อนางสาวสุมาลีบรรลุนิติภาวะ จำเลยผู้เป็นสามีนางสิทธิฯ ได้รู้เห็นและยินยอมให้นางสิทธิฯ จัดการทรัพย์มฤดกตามพินัยกรรมนี้ ต่อมานางสิทธิฯ มรณลง จำเลยเป็นผู้รับและจัดการมฤดก โจทก์จึงฟ้องเรียกเงิน ๑๐๐๐ บาทคืน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลฎีกาตัดสินว่าเรื่องนี้จำเลยฎีกาคัดค้านได้แต่ปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ที่จำเลยคัดค้านว่า ศาลไม่ควรใช้ ม.๑๔๘๒ (๓)(๔) บังคับแก่คดีนั้น เห็นพ้องด้วยเพราะเงิน ๑๐๐๐ บาท นี้ไม่ใช่หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงาน ซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน หรือหนี้ที่สามีภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบันประการหนึ่ง อนึ่งขณะเจ้ามฤดกมรณะนั้นประมวลแพ่งฯ บรรพ ๕ ยังมิได้ใช้จึงจะนำมาตรา ๑๔๘๒ มาใช้บังคับมิได้ แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าการที่นางสิทธิฯ รับเงิน ๑๐๐๐ บาท มารักษาไว้นั้นเป็นหนี้อันเกิดขึ้นผูกพันนางสิทธิฯและเมื่อจำเลยได้ร่วมรู้เห็นในการจัดการมฤดกรายนี้ด้วย ก็นับได้ว่าจำเลยได้อนุญาตให้ภรรยาทำกิจการอันเป็นการผูกพันสินบริคณห์ตามมาตรา ๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ แล้ว และเมื่อถือว่าการรับรักษาเงิน ๑๐๐๐ บาทนี้ เป็นหนี้เกี่ยวกับสินบริคณห์ สามีภรรยาจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้หนี้จากสินบริคณห์ เมื่อนางสิทธิฯ ถึงแก่มรณะแล้วจำเลยจึงต้องรับผิดใช้หนี้รายนี้ต่อไป ทั้งในส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมฤดก จึงพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง

Share