แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องซื้อรถยนต์โดยธนาคารชำระราคาแทน กรรมสิทธิ์โอนโดยไม่ต้องจดทะเบียน ผู้ร้องขายรถต่อไปโดยมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์โอนเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะชำระราคาเสร็จ ถ้าผิดนัดชำระราคา ผู้ร้องกลับเข้าครอบครองรถได้ ผู้ร้องร้องขอรับรถของกลางที่ถูกริบคืนได้ตาม มาตรา36
ย่อยาว
ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และริบรถยนต์ของกลางถ่านไม้ ผู้ร้องอ้างว่าไม่รู้เห็นการกระทำผิด ขอรับรถยนต์ของกลางของผู้ร้องคืน ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบหรือไม่ ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนโดยตลอดแล้วเห็นว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลภาคอิสานพานิช (ดังปัก) ผู้ร้อง นอกจากจะนำสืบพยานบุคคลคือนายประสพสุข ศิริจิตร ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายและทนายความของบริษัทมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด และนายศักรินทร์ ฐานานุศักดิ์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลภาคอีสานพานิช (ตังปัก) ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องยังมีภาพถ่ายเอกสารหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตพร้อมด้วยคำแปลตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 ของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครราชสีมา มาแสดงเป็นหลักฐานว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกอีซูซุ ดีเซล คันหมายเลขเครื่อง ดี.เอ. 120-813794 จากบริษัทมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด โดยวิธีเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครราชสีมา โดยวิธีนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครราชสีมาเป็นผู้ชำระราคาค่ารถยนต์แทนผู้ร้อง ฉะนั้น แม้บริษัทมิตซูบิชิ (ประเทศไทย)จำกัด จะมิได้โอนหลักฐานทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่ผู้ร้อง ก็ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ผู้ร้องได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายไพศาลแซ่ภู โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.3 โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายยินยอมให้นายไพศาล แซ่ภู่ ผู้ซื้อผ่อนชำระราคารถยนต์ให้แก่ผู้ร้องเป็นงวด ๆ และมีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 1 ว่า “กรรมสิทธิ์ในยานยนต์ดังกล่าวจะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อก็ต่อเมื่อราคาตามที่กำหนดไว้ โดยมีเงื่อนไขดังปรากฏข้างต้นได้ชำระเป็นเงินสดครบถ้วน” และตามสัญญาข้อ 6 ก็ได้ระบุไว้มีใจความว่าถ้าผู้ซื้อผิดนัดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ อันมีอยู่ในสัญญาฉบับนี้ หรือว่าผู้ขายมีความเห็นว่ายานยนต์นั้นตกอยู่ในเขตอันตรายที่อาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบหรือถูกยึดเสียแต่ประการใด ผู้ขายหรือผู้แทนซึ่งผู้ขายได้กำหนดตัวลงไปอาจเข้าครอบครองยานยนต์ที่ว่านี้ได้โดยพลัน โดยมิต้องมีการบอกกล่าวเรียกร้องเสียก่อน การเข้ายึดถือครอบครองดังกล่าวนั้นให้กินความรวมถึงอุปกรณ์และเครื่องอะไหล่ใด ๆ ของยานยนต์นั้นด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า หลังจากนายไพศาล แซ่ภู่ ได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวกับผู้ร้องแล้ว ได้นำรถยนต์ไปต่อตัวถังบรรทุกเพื่อประโยชน์ของนายไพศาลแซ่ภู่เอง ครั้นนายไพศาล แซ่ภู่ ผิดนัดไม่ผ่อนชำระราคาค่างวดให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายตั้งแต่งวดที่ 8 ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2518 จึงต้องถือว่านายไพศาล แซ่ภู่ ผิดสัญญา ผู้ร้องจึงย่อมมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวได้ทันทีตามสัญญาซื้อขายที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างผู้ร้องกับนายไพศาล แซ่ภู่ เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น”
พิพากษายืน