คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10680/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินได้ แม้บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยเร็วโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนี้แม้ศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ด้วย ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐและที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อสร้างอาคารไม้ชั้นเดียวบนคลองสาธารณประโยชน์และเป็นการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยรุกล้ำและกีดขวางทางสาธารณะและทางระบายน้ำคลองสวนแดน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งคลองสวนแดน อันเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารออกไปจากที่ดินของรัฐภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานแล้วตลอดมาจนถึงวันฟ้องจำเลยฝ่าฝืนไม่รื้อถอนอาคาร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 65 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 360, 368 และให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครองด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (ที่ถูกมาตรา 9 (1)), 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ กับฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานปรับ 500 บาท รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 10,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 7 เดือน และปรับ 5,250 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลย โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติจำเลย ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งภายในระยะเวลาการคุมประพฤติ ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐที่ยึดถือครอบครองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินคลองสวนแดนซึ่งเป็นที่ดินของรัฐและที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงานผู้รับจ้างและบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินนั้นได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐอันเป็นเจ้าของที่ดินสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยเร็วโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนี้ แม้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ด้วย ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐและที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำขอให้โจทก์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share