คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7499/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยอ้างว่าเข้าไปขุดบ่อน้ำเพื่อรดต้นยูคาลิปตัสนั้น เป็นการนำสืบไม่มีเหตุผล และไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นบุกรุกเข้าไปลักดินและทรายในที่ดินของโจทก์ร่วม ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำขอที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายนั้น ถือเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ศาลพิจารณาและพิพากษาทั้งคดีอาญาและส่วนแพ่งให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ย่อมต้องบังคับไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง และศาลต้องวินิจฉัยค่าเสียหายโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วกำหนดค่าเสียหายในส่วนแพ่งให้ตามที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 362 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 15,316,320 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัท ช. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (เดิม) ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 362 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ซึ่งในบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อส่งขายโรงงานทำกระดาษ โจทก์ร่วมมีที่ดินเป็นจำนวนมากในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 34738 และ 37066 มีอาณาเขตติดกัน เป็นของโจทก์ร่วมใช้สำหรับปลูกต้นยูคาลิปตัส ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ว่าจ้างบุคคลอื่นให้นำรถแบ็กโฮ และรถยนต์บรรทุกหลายคัน เข้าไปขุดและตักดินและทรายในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ร่วม โดยในโฉนดที่ดินเลขที่ 34738 ขุดไปเป็นเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 86.3 ตารางวา และในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 37066 ขุดไปเป็นเนื้อที่ 79.8 ตารางวา
ปัญหาที่เห็นควรนำมาวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งทางราชการออกเมื่อปี 2540 และ 2541 ตามลำดับ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์ และตามแผนที่พิพาทที่ช่างรังวัดของโจทก์ร่วมทำขึ้น กับแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินได้จัดทำขึ้น แสดงให้เห็นว่าบริเวณโดยรอบที่ดินพิพาทก็เป็นที่มีเอกสารสิทธิของบุคคลอื่น นายกิตติศักดิ์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่าได้เข้าไปดูแลทุก 15 วัน ก่อนมีการบุกรุก เคยเข้าไปดูปรากฏว่ายังมีต้นยูคาลิปตัสปลูกเต็มเนื้อที่ นายกิตติศักดิ์เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมที่ทำธุรกิจในการปลูกต้นยูคาลิปตัสส่งโรงงานกระดาษ มีเนื้อที่ที่นายกิตติศักดิ์รับผิดชอบครอบคลุม 3 จังหวัด ประมาณ 45,000 ไร่ เชื่อว่าจะมีการบริหารจัดการ มีลูกจ้างเข้าดูแลที่ดินของโจทก์ร่วมที่ใช้ในการประกอบธุรกิจทุกแปลงเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ร่วมเอง ไม่น่าจะยินยอมให้บุคคลอื่นบุกรุกเข้าทำประโยชน์ได้โดยง่าย นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารสิทธิมายืนยันอีกด้วย ส่วนจำเลยนำสืบการได้มาและการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทลอยๆ คงมีแต่พยานบุคคลเท่านั้น และไม่มีการนำชี้แสดงอาณาเขตของที่ดินที่จำเลยซื้อมาว่ามีรูปที่ดินและมีอาณาเขตเช่นไร ส่วนข้ออ้างที่ว่า เข้าไปขุดบ่อน้ำเพื่อรดต้นยูคาลิปตัสก็ปรากฏจากแผนที่พิพาทและภาพถ่ายว่า เป็นการขุดโดยไม่มีอาณาเขตที่แน่นอนชัดเจนมีรูปทรงเป็นลักษณะของบ่อน้ำ ทั้งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รับรู้กันทั่วไปว่า ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่ทนความแห้งแล้งได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปลูกเป็นแนวรั้วล้อมรอบที่ดินก็ไม่มีความจำเป็นต้องขุดบ่อน้ำเป็นบริเวณกว้างถึง 4 ไร่เศษ เพื่อเก็บกักน้ำไว้รดต้นยูคาลิปตัส ข้อนำสืบของจำเลยไม่มีเหตุผล และไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นบุกรุกเข้าไปลักดินและทรายในที่ดินของโจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำขอที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายนั้นถือเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ศาลพิจารณาและพิพากษาทั้งคดีอาญาและส่วนแพ่งให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน การพิจารณาคดีส่วนแพ่งย่อมต้องบังคับไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังนั้น ถึงแม้การนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับราคาดินและทรายที่ถูกลักไปจะไม่ชัดเจนก็ตาม ศาลต้องใช้วิธีชั่งน้ำหนักพยานของโจทก์จำเลยว่าฝ่ายใดมีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่ากัน แล้วกำหนดให้ไปตามที่ได้ความ หาจำต้องให้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงราคาดินและทรายที่ถูกลักไปโดยปราศจากข้อสงสัยดั่งเช่นการวินิจฉัยความผิดของจำเลยในคดีอาญาไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า ดินและทรายที่ถูกขุดลักไปเป็นทรายที่สามารถไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแก้วได้ จึงมีราคาสูงกว่าดินทรายโดยทั่วไป สำหรับดินและทรายที่ถูกลักไป คิดคำนวณได้ 22,524 ลูกบาศก์เมตร โจทก์ร่วมคิดราคาลูกบาศก์เมตรละ 680 บาท เป็นเงิน 15,316.320 บาท แต่นายกรชัย ซึ่งเป็นผู้คำนวณราคาเบิกความว่า สำหรับราคาดินและทรายที่ถูกลักไปพยานไม่ได้เป็นผู้กำหนดเองแต่พยานทราบจากฝ่ายจัดซื้อของโจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่ามีการอ้างฝ่ายจัดซื้อของโจทก์ร่วมมาเป็นพยานเพื่ออธิบายถึงหลักเกณฑ์ และวิธีคิดว่าอ้างอิงราคาดังกล่าวมาจากแหล่งข้อมูลใด แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายนิวัฒน์ ซึ่งเป็นลูกจ้างของนายอัครพล เจ้าของรถยนต์บรรทุกที่รับจ้างขนดินว่า ปกติทรายและดินที่ซื้อขายกันทั่วไปจะมีราคาลูกบาศก์เมตรละ 70 บาท แต่หากเป็นทรายที่สามารถนำไปผลิตแก้วได้จะมีราคาลูกบาศก์เมตรละ 350 บาท พยานปากนี้เป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงสมควรกำหนดราคาดินและทรายที่จำเลยลักไป ลูกบาศก์เมตรละ 380 บาท คิดเป็นราคาทรัพย์ที่จำเลยต้องใช้คืน 8,559,120 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะร้ายแรง แต่ปรากฏว่าจำเลยเป็นหญิง ขณะกระทำความผิดมีอายุ 75 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดหรือต้องโทษจำคุกมาก่อน การจำคุกจำเลยไปทันที น่าจะไม่มีประโยชน์หรือเป็นการปกป้องสังคมแต่ประการใด และเชื่อว่าหากได้รับโอกาสแล้วจำเลยจะสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีและใช้ชีวิตในบั้นปลายประกอบคุณงามความดีได้ จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กลับมากระทำความผิดอีก ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 8,559,120 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share