คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อ ก.ม.ที่คู่ความยกขึ้นอ้างอิงนั้นจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แต่ศาลชั้นต้น มิฉะนั้นศาลหารับเป็นฎีกาในข้อนั้นไม่
ผู้เช่าเรือยนต์มาทำการหาผลประโยชน์ เมื่อเรือนั้นถูกชนก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมีอำนาจร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานได้ตามมาตรา 123,124 และพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้ตามมาตรา 120,121 และผู้เช่าในฐานะผู้เสียหายก็ยังมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 28(2) อีกด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าของเรือยนต์ได้ร่วมกับผู้ถือท้ายควบคุมเรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานกล่าวหาว่าผู้ถือท้ายเรืออีกลำหนึ่งชนเอาจนต่างฝ่ายได้ร่วมกันทำบันทึกการเสียหายกับเจ้าพนักงานเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเจ้าของเรือนั้นได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายอาญามาตรา 80 แล้ว จึงหาขาดอายุความไม่ ส่วนเรื่องการร้องทุกข์ไม่ถูกต้องเพราะไม่ลงลายมือชื่อนั้นไม่มีประเด็นที่ได้ว่ากล่าวกันมาจึงตกไป

ย่อยาว

คดี ๓ สำนวนนี้เรื่องแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยถือท้ายควบคุมเรือยนต์โดยไม่มีประกาศณียบัตร สองเรื่องหลังโจทก์ฟ้องว่าจำเลยถือท้ายเรือยนต์ชนเรือของโจทก์ชำรุดเสียหาย
จำเลยทั้งสามคดีให้การปฏิเสธและคดีหลังตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ น.ส.เน้ย จำเลยในคดีแรก ๑๐๐ บาท ตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับ พ.ศ.๒๔๕๙ ม.๒๘๒ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๗ ม.๓ และก.ม.อาญา ม.๑๘ กับให้ยกฟ้องโจทก์สองคดีหลัง
น.ส.เน้ยจำเลยคดีแรก โจทก์สองคดีหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีแรก ส่วน ๒ คดีหลังให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้พิพากษาใหม่
น.ส.เน้ย จำเลยในคดีแรกและคดีที่ ๒ กับนายยงจำเลยในคดีหลังฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อ ก.ม.ว่าปัญหาข้อ ก.ม.ที่ว่า น.ส.เน้ยจะจับต้องพวงมาลัยถือท้ายก็อยู่ในความรับผิดชอบของนายสมบัติซึ่งเป็นนายท้ายเรือมีประกาศณียบัตรรับรองความรู้โดยชอบด้วย ก.ม.และ เป็นผู้ควบคุมเรืออยู่ น.ส.เน้ยย่อมไม่มีความผิดตามฟ้องปัญหาข้อ ก.ม.ดังกล่าว น.ส.เน้ยมิได้ยกข้อต่อสู้ในศาลช้นต้นและก็มิใช่เป็นข้อ ก.ม.ที่เกี่ยวกับควบสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อาญาอันว่าด้วยอุทธรณ์ น.ส.เน้ยผู้อุทธรณ์ยกขึ้นอ้างไม่ได้ ตาม ป.วิ. อาญา ม.๑๙๕
ศาลฎีกาเห็นว่านายทองอยู่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๒๓,๑๒๔ และพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๒๐,๑๒๑ เพราะนายทองอยู่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา ม.๒ (๔) โดยนายทองอยู่เป็นผู้เช่าเรือยนต์ศรีมหาโลกมาทำการหาผลประโยชน์เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์และรับผิดชอบในทรัพย์ที่เช่ามานี้ ระหว่างเช่า ทั้งนายทองอยู่ยังมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในฐานะเป็นผู้เสียหายอีกด้วย ตาม ป.วิ.อาญา ม.๒๘ (๒) ฎีกา น.ส.เน้ยจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของนายยงศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่านางแถวโจทก์ได้เข้าร่วมในการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานของ น.ส.เน้ยและนายสมบัติกล่าวหาว่านายยงเป็นฝ่ายถือท้ายเรือยนต์ศรีมหาโลกแล่นชนเรือยนต์สมบัติพวงทองของนางแถวจนนางแถวฝ่ายหนึ่งและนางทองอยู่อีกฝ่ายหนึ่งได้ร่วมกันตรวจบันทึกความชำรุดเสียหายของเรือทั้งสองลำกับเจ้าพนักงานสอบสวนด้วยแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าคดีของนางแถวมีการร้องทุกข์ความตามประสงค์แห่ง ก.ม.อาญา ม.๘๐ ภายใน ๓ เดือน ก่อนฟ้องแล้วไม่ขาดอายุความ ซึ่งข้อเท็จจริงศาลฎีกาจะต้องฟังตาม แต่ในข้อที่ว่า น.ส.เน้ยและนายสมบัติไม่ได้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๒๑,๑๒๓ เพราะไม่ได้ลงชื่อไว้ ต้องถือว่ายังไม่ได้มีการร้องทุกข์ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน ๓ เดือนแล้วจึงขาดอายุความฟ้องร้องตาม ก.ม.อาญา ม.๘๐ นั้น ไม่มีประเด็นที่ได้ว่ากล่าวกันมาเกี่ยวกับเรื่องไม่ลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ ฎีกานายยงจำเลยเป็นอันตกไป
จึงพิพากษายืน

Share