แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันยักยอกเงินของสหกรณ์ ไป ต้องร่วมกันรับผิดชอใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นแก่สหกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคแรก ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่จะต้องรับผิดยิ่งหย่อนกว่ากันจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามมาตรา 432 วรรคสาม เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินที่ยักยอกให้สหกรณ์ฯ ไป ย่อมรับช่วงสิทธิของสหกรณ์ฯ มาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 229 (3), 266 การที่โจทก์ใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ฯ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ฯ จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้ไปแล้ว มิใช่ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกมา จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายและถือไม่ได้ว่าเป็นการมาศาลด้วยมืออันไม่บริสุทธิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับสหกรณ์ฯ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อสหกรณ์ฯ นี้เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ จึงใช้สิทธิของสหกรณ์ฯ บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 226
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการสหกรณ์ออกทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด จำเลยที่ ๑ ทำงานอยู่กับสหกรณ์ดังกล่าวมีหน้าที่รับคำขอกู้ จ่ายเงินของสหกรณ์ให้สมาชิก จัดทำเอกสารและหน้าที่แทนโจทก์เมื่อโจทก์ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติงานได้ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในการเข้าทำงานกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด ว่าถ้าจำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีหนี้เกิดขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยที่ ๒ ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินนั้นเต็มจำนวน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้ทำเอกสารปลอมและปลอมลายมือชื่อของสมาชิกสหกรณ์หลายราย แล้วใช้เอกสารปลอมดังกล่าวขอกู้เงินประเภทฉุกเฉินจากสหกรณ์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวรวมเป็นเงินทั้งสิน ๑๓๑,๖๕๐ บาท ต่อมาจำเลยที่๑ ชดใช้เงิน ๒๕,๘๐๐ บาทให้แก่สหกรณ์ ยังคงเหลือเงินที่จำเลยที่ ๑ เบียดบังไว้ ๑๐๔,๘๕๐ บาท ต่อมาโจทก์ตรวจพบการทุจริตของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยอมรับต่อโจทก์และทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ว่าจะจัดการชดใช้เงินให้สหกรณ์หากไม่สามารถชดใช้ จะให้ผู้ค้ำประกันชดใช้แทน ต่อมาผู้ตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ตรวจพบว่าเงินของสหกรณ์ขาดหายไป ๑๔๐,๕๗๐ บาท รวมทั้งเงินที่จำเลยที่ ๑ เบียดบังไว้ด้วย โจทก์ได้ชดใช้ให้สหกรณ์ไปแล้วจำเลยที่ ๑ มิได้ชดใช้เงิน ๑๐๔,๘๕๐ บาทให้แก่สหกรณ์ โจทก์ต้องชดใช้แทนไปความเสียหายนี้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ก่อขึ้น โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชดใช้ให้โจทก์ จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขดให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๑๐๔,๘๕๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยให้การว่า โจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ ๑ ทำปลอมเอกสารและปลอมลายมือชื่อของสมาชิกสหกรณ์ออกทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด และใช้เอกสารปลอมดังกล่าวกู้เงินประเภทฉุกเฉินจากสหกรณ์รวมเป็นเงิน ๑๓๑,๖๕๐ บาท โดยโจทก์เป็นผู้รับเงินไปทั้งสิ้น และสัญญาว่าหากเกิดเรื่องราวขึ้นโจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบเองจำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาจึงได้กระทำไปตามคำหลอกลวงของโจทก์นอกจากนี้โจทก์ยังได้หลอกลวงให้จำเลยที่ ๑ บันทึกข้อความต่าง ๆ หลายฉบับให้โจทก์หลุดพ้นความรับผิด เมื่อผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจพบว่าเงินจองสหกรณ์ขาดหายไปโจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อสหกรณ์ร่วมกับโจทก์ โดยโจทก์สัญญาว่าจะรับผิดแต่ผู้เดียว เมื่อโจทก์ใช้เงินให้สหกรณ์ไปแล้วจึงใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า สัญญาค้ำประกันผูกพันระหว่างจำเลยที่ ๒ กับสหกรณ์ออกทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด เท่านั้น โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายฐานยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด เมื่อโจทก์ชดใช้แล้วจะล้างเอาหนี้ที่ตนกระทำสุจริตขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ เมื่อหนี้เป็นประธานเป็นโมฆะ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ร่วมกันทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ฯ ไป
วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ร่วมกันทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัดไป โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนี้แก่สหกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๒ วรรคแรก ส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ด้วยกันเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์ที่สมควรให้รับผิดยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามมาตรา ๔๓๒ วรรคสาม เมื่อโจทก์ชำระเงินให้สหกรณ์ไปย่อมรับช่วงสิทธิของสหกร์มาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ ๑ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๙ (๓) , ๒๒๖ ตามส่วนที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดตามมาตรา ๔๓๒ วรรคสาม เงินที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ยักยอกไปจำนวน ๑๒๑,๖๔๐ บาท จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดครึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๖๔,๘๓๔ บาท โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ ๑ ชดใช้ให้สหกรณ์แล้วจำนวน ๒๔,๘๐๐ บาท เงินส่วนที่จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดจึงคงเหลือ ๔๐,๐๒๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ อันเป็นวันที่จำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินให้สหกรณ์ไป ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาขน ทั้งถือว่ามาศาลด้วยมืออันไม่บริสุทธิ์ โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ ๑ มิได้นั้นเห็นว่า กรณีนี้โจทก์มิได้เรียกเงินที่ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ยักยอกมา แต่เป็นเรื่องโจทก์ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์แล้วรับช่วงสิทธิของสหกรณ์มาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ ๑ ตามส่วนที่จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิด การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์หาต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ จะนับว่าโจทก์มาศาลด้วยมืออันไม่บริสุทธิ์มิได้ โจทก์จึงฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ ได้ สำหรับจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันนั้นมีข้อความตามหนังสือค้ำประกันว่า ถ้าจำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อหนี้สินขึ้นต่อสหกรณ์ผู้จ้างไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และจำเลยที่ ๑ ไม่ชดใช้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จำเลยที่ ๒ ยินยอมชดใช้แทน ดังนี้ เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของสหกรณ์ฯ ในหนี้ที่เกิดขึ้นจากจำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิของสหกรณ์ฯ ดังกล่าวบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ได้ตามมาตรา ๒๒๖
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๘๐,๐๒๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทนจนครบ