แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่บริษัทเดินเรือขนสินค้าจากประเทศอินเดียมายังท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง เป็นการรับขนของทางทะเล ซึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609วรรคท้าย ให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้นปัจจุบันกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลของประเทศไทยยังไม่มี ในเรื่องอายุความฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่งทางทะเล ต้องนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา624 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 ว่าด้วยรับขนของ อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสามเมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อสินค้าตามฟ้องหรือผู้รับตราส่งรับสินค้าไปเมื่อ พ.ศ. 2522 และ 2523 โจทก์รับช่วงสิทธิเรียกร้องมาจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายและบุบสลายของสินค้าเมื่อวันที่23 สิงหาคม 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 624.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันภัยทุกประเภท ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทการ์เดียนแอสชัวรันส์จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก(ประเทศไทย) จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าหลายชนิดเมื่อเดือนสิงหาคมกันยายน และตุลาคม พ.ศ. 2522 และเดือนพฤษภาคม 2523 จากประเทศอินเดีย บริษัทเลียนซูนชิปปิ้งแอนด์เทรดดิ้ง (พีทีอี) จำกัด และบริษัทคริสตัลชิปปิ้ง พีวีที. จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย สินค้าทั้งหมดมีประกันวินาศภัยเพื่อความเสียหายในระหว่างขนส่งไว้กับบริษัทการ์เดียนแอสชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้าสูญหายและบุบสลายเป็นเงินรวม318,648.90 บาท บริษัทดังกล่าวและโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ซื้อสินค้าไปแล้ว บริษัทเดินเรือทั้งสองว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการขนสินค้าจากเรือที่จอดเทียบท่าของการการท่าเรือแห่งประเทศไทยลงสู่ท่า ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรขออนุมัติการท่าเรือเพื่อให้เรือเข้าเทียบท่า รับคืนใบตราส่งจากผู้ซื้อแล้วออกใบปล่อยสินค้าให้ผู้ซื้อ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 318,648.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์รับขนส่งสินค้าทางทะเลแต่มีวัตถุประสงค์รับขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นฝั่ง และขนสินค้าลงเรือที่จอดเทียบท่าจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ขนส่งร่วมหรือเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และคดีของโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 318,648.90บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำพวกบริษัทจำกัด มีวัตถุที่ประสงค์ประกอบธุรกิจรับประกันภัยทุกประเภท ได้รับโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดตามสัญญาประกันภัย ตลอดจนสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทการ์เดียนแอสชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเจริญยนต์อะไหล่ และบริษัทอิตัลไทยอินดัสเตรียล จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากประเทศอินเดีย บริษัทเลียนซูนชิปปิ้งแอนด์เทรดดิ้ง (พีทีอี) จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องข้อ ก. ข. และ ค. บริษัทคริสตัลชิปปิ้ง พีวีที. จำกัดเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องข้อ ง. มายังประเทศไทย สินค้าทั้งหมดมีประกันวินาศภัยเพื่อความเสียหายในระหว่างขนส่งไว้กับบริษัทการ์เดียนแอสชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย เมื่อผู้ซื้อมารับสินค้าที่ท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยปรากฏว่าสินค้าสูญหายและบุบสลายเป็นเงินรวม 318,648.90 บาท บริษัทการ์เดียนแอสชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนเงิน318,648.90 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจำพวกห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 มีวัตถุที่ประสงค์หลายประการรวมทั้งรับเหมาขนถ่ายสินค้าและบรรทุกสินค้ารับขนส่งและออกของตามพิธีการของศุลกากร และเป็นตัวแทนเดินเรือทะเลต่างประเทศด้วย บริษัทเดินเรือทั้งสองไม่มีสำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย จึงว่าจ้างจำเลยที่ 1ขนสินค้าตามฟ้องจากเรือที่จอดเทียบท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยลงสู่ท่า และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดำเนินการทางพิธีการศุลกากร ขออนุมัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อให้เรือเข้าเทียบท่า รับคืนใบตราส่งจากผู้ซื้อแล้วออกใบปล่อยสินค้าให้ผู้ซื้อไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทางค้าปกติของจำเลยที่ 1
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การขนส่งสินค้าตามฟ้องสิ้นสุดลงแล้วเมื่อเรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง จำเลยที่ 1เป็นเพียงผู้รับจ้างขนถ่ายสินค้าตามฟ้องจากเรือลงสู่ท่าโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างมิใช่บำเหน็จที่เรียกว่าค่าระวางพาหนะ จำเลยทั้งสองจึงมิต้องรับผิดในการที่สินค้าตามฟ้องสูญหายและบุบสลาย กับคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาอายุความเสียก่อน การที่บริษัทเดินเรือทั้งสองขนสินค้าจากประเทศอินเดียมายังท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง เป็นการรับขนของทางทะเล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคท้ายบัญญัติว่า ‘รับขนของทางทะเลท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น’ ปัจจุบันกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลของประเทศไทยยังไม่มี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในเรื่องอายุความฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่งทางทะเล ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 ว่าด้วยรับขนของอันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสามมาตรา 624 บัญญัติว่า’ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบเว้นแต่ในกรณีที่มีการทุจริต’ ปรากฏว่าผู้ซื้อสินค้าตามฟ้องหรือผู้รับตราส่งรับสินค้าไปเมื่อพุทธศักราช 2522 และ 2523 โจทก์รับช่วงสิทธิเรียกร้องมาจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายและบุบสลายของสินค้าตามฟ้องเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 624 เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความซึ่งจะต้องพิพากษายกฟ้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาอื่น’
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.