คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10659-10665/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ หรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้าง สาเหตุการเลิกจ้างอาจเกิดจากฝ่ายลูกจ้างฝ่ายเดียว เมื่อสาเหตุและความจำเป็นที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มาจากการประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับคุ้มทุน มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ให้สิทธิจำเลยในการที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ ทั้งเหตุที่ต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานและโอนงานไปรวมกับหน่วยงานอื่นก็เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการและสัญญาผู้ประกอบการจำหน่ายที่จำเลยทำกับเจ้าหนี้ ดังนั้น การที่จำเลยใช้สิทธิตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเลิกจ้างโจทก์พร้อมกับพนักงานในหน่วยงานที่ถูกปรับยุบทั้งหมด เพราะมีสาเหตุมาจากการประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมิได้เลือกปฏิบัติกลั่นแกล้งเฉพาะโจทก์เท่านั้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนกรณีที่จำเลยประกาศรับสมัครผู้จัดการในหน่วยงานอื่นของจำเลยซึ่งโจทก์ทั้งสองมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสมัครเข้าไปทำงานได้นั้น จำเลยก็ได้ดำเนินการหลังจากเลิกจ้างโจทก์เป็นเวลานาน เนื่องจากความจำเป็นทางด้านการบริหารจัดการที่เพิ่งเกิดมีขึ้นใหม่ในภายหลังตามความประสงค์ของบริษัท ว. ซึ่งจำเลยมีความผูกพันตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติ เหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน
จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่และให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์ รายได้ที่จะมีผลต่อกำไรหรือขาดทุนในการประกอบธุรกิจของจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในส่วนธุรกิจรถยนต์ การที่จำเลยประกาศจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มให้แก่พนักงาน จึงมุ่งหมายถึงผลประกอบการในการดำเนินธุรกิจรถยนต์โดยตรง ซึ่งได้แก่ การขายรถยนต์ใหม่ การขายรถยนต์เก่าการขายอะไหล่ การให้บริการซ่อมบำรุง และการให้เช่ารถยนต์ ส่วนการขายสินทรัพย์ หนี้สูญได้รับคืน รายได้อื่นๆ และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของจำเลย มิใช่การประกอบกิจการอันเป็นธุรกิจรถยนต์ของจำเลยดังกล่าว จึงไม่อาจถือเป็นรายได้ที่จะนำมาคำนวณเป็นผลกำไรในส่วนธุรกิจรถยนต์ เมื่อการดำเนินงานในส่วนธุรกิจรถยนต์ไม่มีผลกำไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษจากจำเลย

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 7
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินคนละ 2,025,000 บาท 2,880,750 บาท 1,576,167 บาท 747,846 บาท 1,029,000 บาท 926,250 บาท และ 1,218,750 บาท ตามลำดับ นอกจากนั้นจำเลยได้มีประกาศว่าหากปรากฏว่าในปี 2544 จำเลยมีผลกำไร จะจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 และพนักงานเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายครึ่งเดือน ซึ่งจำเลยมีผลกำไรในการประกอบการ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินรางวัลดังกล่าวให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 คนละ 22,843 บาท 27,685 บาท 24,500 บาท 23,750 บาท และ 23,750 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 2,025,000 บาท 2,880,750 บาท 1,576,167 บาท 747,846 บาท 1,029,000 บาท 926,250 บาท และ 1,218,750 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายเงินรางวัลพิเศษแก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 คนละ 22,843 บาท 27,685 บาท 24,500 บาท 23,750 บาท และ 23,750 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 900,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,085,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าเสียหายของแต่ละคนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 พฤษภาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7
โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นบริษัทมหาชน ประกอบกิจการจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการหน่วยงานต่างๆ ของจำเลย เมื่อปี 2540 เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยและรัฐบาลได้ประกาศลดค่าเงินบาท เป็นเหตุให้จำเลยต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินและประสบการขาดทุนสะสมตลอดมา จนต้องปรับลดจำนวนพนักงานและทำแผนฟื้นฟูกิจการกับเจ้าหนี้ รวมทั้งลดบทบาทจากการเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ในประเทศไทยมาเป็นตัวแทนจำหน่ายเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครโดยทำสัญญาผู้ประกอบการจำหน่ายกับบริษัทวอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาในปี 2544 จำเลยมีกำไร 25,000,000 บาทเศษ แต่ก็ยังขาดทุนสะสมอยู่อีก 1,900,000,000 บาทเศษ จำเลยจึงต้องปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานลงอีก และในเดือนมีนาคม 2544 จำเลยได้ปรับโครงสร้างองค์กรอีกครั้ง โดยยุบหน่วยงานในสำนักงานใหญ่พร้อมกับโอนงานที่มีลักษณะเช่นเดียวกันไปให้สำนักงานสาขารับผิดชอบ ส่วนงานธุรกิจเสริมโอนไปสังกัดศูนย์ธุรกิจบางนาตามภาระหน้าที่ที่จำเลยต้องปฏิบัติภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการกับเจ้าหนี้และสัญญาผู้ประกอบการจำหน่ายกับบริษัทวอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานอยู่ในหน่วยงานที่ถูกปรับยุบ จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด เห็นว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ หรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช้สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้างลูกจ้าง สาเหตุการเลิกจ้างอาจเกิดจากฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้างก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเกิดจากฝ่ายลูกจ้างเท่านั้น เมื่อมูลเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สืบเนื่องมาจากเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้จำเลยประสบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง มีหนี้สิ้นจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับคุ้มทุน มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ 9 ข้อ 1.1 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สิทธิแก่จำเลยในการที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ ส่วนเหตุผลที่ต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทั้งสองทำงานเป็นเพราะลักษณะงานมีทำอยู่ที่หน่วยงานอื่นของจำเลยแล้ว จึงต้องถูกปรับยุบและโอนงานไปรวมกับหน่วยงานอื่นตามแผนฟื้นฟูกิจการและสัญญาผู้ประกอบการจำหน่ายที่จำเลยทำไว้กับเจ้าหนี้ เมื่อหน่วยงานที่โจทก์ทั้งสองทำงานถูกย่อมทำให้ตำแหน่งงานของโจทก์ทั้งสองต้องถูกยุบตามไปด้วย จึงเห็นได้ชัดว่าขณะที่จำเลยใช้สิทธิตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 9 ข้อ 1.1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองพร้อมกับพนักงานในหน่วยงานที่ถูกปรับยุบทั้งหมดเพราะมีสาเหตุมาจากการประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องดังกล่าวมิได้เลือกปฏิบัติกลั่นแกล้งเฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้นจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนกรณีที่จำเลยประกาศรับสมัครผู้จัดการในหน่วยงานอื่นของจำเลยซึ่งโจทก์ทั้งสองมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสมัครเข้าไปทำงานได้นั้น จำเลยได้ดำเนินการหลังจากเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเวลานาน ด้วยเหตุผลความจำเป็นทางด้านการบริหารจัดการที่เพิ่งเกิดมีขึ้นใหม่ในภายหลัง ทั้งนี้เป็นไปตามความประสงค์ของบริษัทวอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจำเลยมีความผูกพันตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติ การที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาประการต่อมามีว่า โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่ และให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์ รายได้ที่จะมีผลต่อกำไรหรือขาดทุนในการประกอบธุรกิจของจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในส่วนธุรกิจรถยนต์ ดังนั้น จุดประสงค์ที่จำเลยประกาศจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มให้แก่พนักงาน จึงมุ่งหมายถึงผลประกอบการในการดำเนินธุรกิจรถยนต์โดยตรง ซึ่งได้แก่ การขายรถยนต์ใหม่ การขายรถยนต์เก่า การขายอะไหล่ การให้บริการซ่อมบำรุง และการให้เช่ารถยนต์ ส่วนการขายสินทรัพย์ หนี้สูญได้รับคืน รายได้อื่นๆ และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของจำเลย มิใช่การประกอบกิจการอันเป็นธุรกิจรถยนต์ของจำเลยดังกล่าว จึงไม่อาจถือเป็นรายได้ที่จะนำมาคำนวณเป็นผลกำไรในส่วนธุรกิจรถยนต์ เมื่อปรากฏว่าการดำเนินงานในส่วนธุรกิจรถยนต์ไม่มีผลกำไร การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษจากจำเลยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share