คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์ จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2531ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยจะขายที่ดินให้ผู้อื่นในราคาสูงกว่าโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินให้โจทก์ภายในวันที่ 10มิถุนายน 2531 แต่จำเลยหลบหน้าไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์วันที่13 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงฟ้องจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรับเงินที่เหลือและโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ได้มีการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้นแล้ว เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่จำเลยจะอ้างเป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2531 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยจำเลยตกลงจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 702 และ 703 แก่โจทก์ ในราคา1,496,250 บาท โจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาระยอง รวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา เพื่อเป็นการวางมัดจำ กำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์วันที่ 4 กรกฎาคม 2531 จำเลยได้รับเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้ครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยได้นำที่ดินดังกล่าวไปเสนอขายให้แก่บุคคลอื่นในราคาสูงกว่าที่ได้ทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์ โจทก์จึงขออายัดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบ และแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2531 โดยโจทก์พร้อมที่จะชำระเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 996,250 บาท เมื่อถึงกำหนดวันนัดจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ทั้งไม่ยอมรับเงินส่วนที่โจทก์ค้างชำระ ขอให้บังคับจำเลยรับชำระเงินจำนวน996,250 บาทจากโจทก์ และจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 702 และ 703 แก่โจทก์ หากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามฟ้อง ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2531 จำเลยไม่ประสงค์จะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ จึงได้แสดงเจตนาขอยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวต่อโจทก์พร้อมกับคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ และได้ส่งเงินมัดจำคืนให้แก่นายบุญลือ อติการบดี พี่ชายโจทก์และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโจทก์ในการประกอบกิจการค้าที่ดินร่วมกันรวมทั้งที่พิพาทด้วย โดยสามีของโจทก์เป็นผู้รับเงินแทน หลังจากจำเลยขอยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับการโต้แย้งหรือคำบอกกล่าวจากโจทก์ ทั้งไม่เคยเสนอขายที่พิพาทให้แก่บุคคลอื่นหรือตกลงยินยอมโอนที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ ในวันที่10 มิถุนายน 2531 จำเลยมิใช่ฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระเงินจำนวน 996,250 บาทจากโจทก์และจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 702 และ 703 เลขที่ดิน 45 และ 46 ตำบลนาจอมเทียน(บางเสร่) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3มกราคม 2531 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 702 และ 703 ตำบลนาจอมเทียน (บางเสร่)อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวม 2 แปลง ให้โจทก์ เป็นเงิน1,496,250 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์มอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาระยอง จำนวน 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวมจำนวน 500,000 บาทมอบให้จำเลยไว้เป็นมัดจำ จำเลยได้รับเงินมัดจำไว้จากโจทก์475,000 บาท ราคาที่ดินที่เหลือจะชำระในวันที่ 4 กรกฎาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่จำเลยจะจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้โจทก์ ตามเอกสารหมายจ.1 ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2531 ก่อนครบกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เพื่อบังคับตามสัญญา ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้วหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์แล้ว มีผู้อ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกับนายบุญลือ พี่ชายโจทก์ กล่าวหาว่าจำเลยและนายบุญลือกับพวกสมคบกันทำสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยเกรงว่าจะมีปัญหาจึงปรึกษากับบิดาและพากันไปที่ร้านวังฟ้าของโจทก์ แต่ไม่พบโจทก์ พบแต่นายสุรพงษ์สามีโจทก์ จำเลยขอยกเลิกสัญญาและขอคืนเงินมัดจำนายสุรพงษ์จึงโทรศัพท์ไปคุยกับนายบุญลือซึ่งเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ และให้จำเลยคุยทางโทรศัพท์กับนายบุญลือด้วย หลังจากคุยกับนายบุญลือแล้ว จำเลยได้คืนเงินมัดจำให้นายสุรพงษ์และขอสัญญาคืน นายสุรพงษ์ว่าสัญญาอยู่กับโจทก์ และรับว่าไม่มีปัญหาอะไร แล้วนายสุรพงษ์ทำหลักฐานการรับเงิน ตามเอกสารหมาย ล.1ให้ หลังจากเลิกสัญญาแล้วนายบุญลือหรือโจทก์ไม่ได้โต้แย้งการเลิกสัญญากับจำเลย ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย โดยเป็นผู้ซื้อ ส่วนนายบุญลือเป็นเพียงพยานในสัญญาและเป็นผู้ติดต่อขอซื้อที่ดินจากจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องติดต่อขอเลิกสัญญากับนายบุญลือที่จำเลยอ้างว่านายบุญลือเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์คงมีแต่คำของจำเลย เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย หากจำเลยประสงค์จะขอยกเลิกสัญญาจำเลยก็น่าจะต้องติดต่อกับโจทก์โดยตรงมิใช่ไปติดต่อกับนายสุรพงษ์สามีโจทก์และนายบุญลือพี่ชายโจทก์นอกจากนี้ตามเอกสารหมาย ล.1 ปรากฏว่าข้อความเพียงว่า นายสุรพงษ์ได้รับเงินจากจำเลยจำนวน 475,000 บาท เพื่อมอบให้นายบุญลือเท่านั้น ไม่มีข้อความว่าเป็นการขอยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์และเป็นการคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญาโจทก์เป็นผู้วางเงินมัดจำให้จำเลย หากจะมีการคืนเงินมัดจำกันจริงก็จะต้องคืนกับโจทก์ มิใช่ไปคืนให้กับนายบุญลือ ข้อนำสืบของจำเลยไม่สมเหตุผล และไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์นายสุรพงษ์สามีโจทก์ และนายบุญลือ อติการบดีพยานโจทก์เบิกความว่า นายบุญลือไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับโจทก์หลังจากจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์แล้วจำเลยได้นำเงินไปฝากกับนายสุรพงษ์ไว้เพื่อมอบให้แก่นายบุญลือไม่ได้บอกว่าเป็นค่าอะไร นายสุรพงษ์พยายามโทรศัพท์ติดต่อกับนายบุญลือแต่ก็ไม่พบ จึงยอมรับเงินไว้ และได้ออกใบรับให้จำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 หลังจากนั้นนายสุรพงษ์ติดต่อบอกให้นายบุญลือทราบนายบุญลือก็สงสัยว่า เป็นเงินค่าอะไร เมื่อได้รับเงินจากนายสุรพงษ์แล้วนายบุญลือได้พยายามติดต่อคืนเงินให้กับจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมรับ ต่อมาโจทก์ทราบจากนายประกิตว่า จำเลยจะจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลอื่นในราคาสูงกว่า โจทก์จึงไปขออายัดที่ดินพิพาทไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ ทำให้จำเลยพยายามบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์และขอคืนเงินมัดจำข้อนำสืบของโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าจำเลย คดีฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว สัญญายังคงมีผลผูกพันจำเลยอยู่ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ ส่วนในข้อที่จำเลยฎีกา ว่าสัญญาจะซื้อจะขายกำหนดวันโอนที่ดินพิพาทในวันที่ 4กรกฎาคม 2531 แต่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2531โดยจำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยจะขายที่ดินพิพาทให้ผู้อื่นในราคาสูงกว่าโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2531 แต่จำเลยหลบหน้าไม่ยอมโอนที่ดินให้ โจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับเงินที่เหลือและโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ได้มีการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้นแล้ว เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่จำเลยจะอ้างเป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share