คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความต่างกับฟ้องนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นสำคัญในคดีถ้าไม่สำคัญแล้วศาลก็คงลงโทษจำเลยได้
อ้างฎีกาที่ 1176,1177/2482
ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์จำเลยปฏิเสธและว่าจำเลยกับเจ้าทรัพย์แต่งงานกันแต่ยังมิได้จดทะเบียนสมรส เจ้าทรัพย์รับว่าแต่งงานกับจำเลยจริงและทรัพย์ที่ถูกลักนั้นเป็นของบิดาเจ้าทรัพย์ เมื่อเช่นนี้ปัญหาว่าทรัพย์เป็นของใครถือว่าเป็นสาระสำคัญของคดี ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของนางเอียดในเคหะสถานและในเวลาค่ำคืน จำเลยปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ และแถลงว่านางเอียดเจ้าทรัพย์กับจำเลยแต่งงานกันแล้วแต่ยังมิได้จดทะเบียนสมรสกันจริง ของที่ถูกลักนั้นเป็นของบิดานางเอียด ยังไม่ได้มอบให้นางเอียดแต่นางเอียดเป็นผู้เก็บเอาไว้ข้างที่นอนอ เมื่อสืบพะยานโจทก์หมดแล้ว จำเลยจึงให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นโจทก์ฟ้องลักทรัพย์ของนางเอียด แต่ทางพิจารณาปรากฎว่าทรัพย์นั้นเป็นของบิดานางเอียด ลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.๑๙๒ วรรค ๒ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน (มีความเห็นแย้ง)
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่ว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.๑๙๒ นั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ คือเป็นประเด็นสำคัญในคดีนั้น ถ้าไม่สำคัญแล้วศาลก็ลงโทษจำเลยได้ แต่คดีนี้มิใช่เพียงแต่ผิดชื่อเจ้าทรัพย์เท่านั้น จำเลยต่อสู้ด้วยว่านางเอียดแต่งงานเป็นภรรยาจำเลย ทั้งนางเอียดก็เบิกความรับ ข้อความนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยในทางอาญา ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าทรัพย์เป็นของใครในคดีนี้จึงเป็นสาระสำคัญที่ศาลจะต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเมื่อเป็นสาระสำคัญแล้วก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.๑๙๒ วรรค ๒ จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง

Share