คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงแล้วว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณทุ่งใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางระบายน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่ไหลจากบริเวณที่ดินโจทก์ทั้งสิบเจ็ดผ่านลำรางดังกล่าวไปสู่บึงน้ำสาธารณะมานาน 40 ถึง 50 ปีแล้วอันเป็นทางภารจำยอมก็เป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะใช้ลำรางระบายน้ำนั้นได้โดยไม่ให้จำเลยปิดกั้น เมื่อได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นที่ลุ่มจำต้องรับน้ำซึ่งไหลและระบายตามธรรมดาจากที่สูงมาในที่ดินของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1339 วรรคแรก และมาตรา 1340 วรรคแรก ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นแต่คำพิพากษาของศาลล่างที่พิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ร่วมกันขุดเปิดลำรางก็ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดดำเนินการเองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแทนนั้น ไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ และเมื่อกรณีมิใช่เรื่องภารจำยอมก็ไม่ต้องมีการจดทะเบียนภารจำยอม

ย่อยาว

โจทก์สิบเจ็ดคนฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมในที่ดิน น.ส.3 เล่ม 14 กว้าง 1 วา ยาว 194 เมตร ลึก1 วา และให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดิน น.ส.3เลขที่ 295 กว้าง 1 วา ยาว 194 เมตร ลึก 1 วา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดเปิดทางภารจำยอมซึ่งมีความกว้าง 2 วา ยาว 194 เมตร ลึก 1 วา หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถทำการขุดได้ด้วยตนเองหรือไม่ไปทำการขุด ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้กระทำการแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องว่าได้อาศัยที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเส้นทางระบายน้ำผ่านมาตลอดระยะเวลา40 ถึง 50 ปี นั้นไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วเมื่อมีน้ำมากเกินความต้องการ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดก็จะระบายน้ำลงสู่คลองส่งน้ำชลประทานราษฎร์ไหลลงสู่บึงไผ่แขก ที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงหาได้เป็นภารจำยอมดังโจทก์ฟ้องไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดเปิดลำรางภารจำยอม ตรงแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่มที่ 14 หน้า 154ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 295 หมู่ที่ 2ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี กว้างประมาณ 2 วา ยาวประมาณ 194 เมตร ลึกประมาณ 1 วา โดยให้ลำรางอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองคนละครึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดดำเนินการเอง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแทนและให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมนายฉุ่น พันธุ์มุข ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นเจ้าของและครอบครองทำนาอยู่ในที่ดินบริเวณทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโพธิ์อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ตามคำฟ้อง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยทั้งสอง โดยที่ดินของจำเลยที่ 1อยู่ทางทิศเหนือของที่ดินจำเลยที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยทั้งสองจดบึงไผ่แขก ทิศตะวันตกจดถนนทางเข้าวัดไผ่แขกถัดจากถนนดังกล่าวไปเป็นที่ดินของนายป่วนหรือป้วน คุ้มพรโจทก์ที่ 10 ใต้ถนนทางเข้าวัดไผ่แขกมีท่อระบายน้ำฝังอยู่ตรงแนวเขตที่ดินระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 1 กับที่ดินของจำเลยที่ 2ที่พิพาทอยู่ระหว่างที่ดินของจำเลยทั้งสอง เริ่มตั้งแต่ท่อระบายน้ำถนนเข้าวัดไผ่แขกเรื่อยไปจนถึงบึงไผ่แขก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นลำรางระบายน้ำจากบริเวณที่นาโจทก์ทั้งสิบเจ็ดไปลงสู่บึงไผ่แขกหรือไม่ และจำเลยทั้งสองมีสิทธิปิดมิให้เป็นลำรางระบายน้ำได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทนั้นเดิมเป็นลำรางระบายน้ำตามธรรมดาธรรมชาติจากพื้นที่บริเวณทุ่งใหญ่ลงสู่บึงไผ่แขก โดยที่ที่ดินของจำเลยทั้งสองตรงที่พิพาทเป็นที่ลุ่ม เมื่อถึงฤดูน้ำหรือฤดูทำนา มีน้ำมากในพื้นที่บริเวณทุ่งใหญ่ น้ำก็จะไหลจากบริเวณทุ่งใหญ่ผ่านลำรางดังกล่าวในที่พิพาทลงสู่บึงไผ่แขกเป็นเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคแรกและจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตนเพราะก่อนหน้านี้น้ำจากบริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด ซึ่งเป็นที่สูงก็ได้ระบายไหลเข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสองในบริเวณที่พิพาทตามธรรมดาอยู่แล้วดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1340 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยทั้งสองใช้ที่ดินกลบลำรางในที่พิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมนาของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจนได้รับความเดือดร้อนเสียหายเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบายน้ำตามเดิมได้ซึ่งโจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงโดยได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณทุ่งใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เพราะจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางระบายน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่ไหลจากบริเวณที่ดินโจทก์ทั้งสิบเจ็ดผ่านลำรางดังกล่าวไปสู่บึงน้ำสาธารณะมานาน 40 ถึง 50ปีแล้ว เป็นทางภารจำยอมอันเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดที่จะใช้ลำรางระบายน้ำนั้นได้ โดยไม่ให้จำเลยทั้งสองปิดกั้นซึ่งในคดีแพ่งนั้น โจทก์ไม่จำเป็นจะต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้างเพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้วส่วนบทกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกมาปรับแก่คดีเอง ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่ากรณีเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคแรกและมาตรา 1340 วรรคแรก ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าวได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ลำรางในที่พิพาทมีขนาดกว้าง ยาว และลึกเท่าใดข้อนี้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดนำสืบว่า มีขนาดกว้าง 2 วา โดยอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองคนละ 1 วา ลึก 1 วา และยาวประมาณ 194 เมตรจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างเกี่ยวกับขนาดของลำรางในที่พิพาทให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพียงแต่นำสืบว่าไม่มีลำรางในที่พิพาทเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทเคยเป็นลำรางมาก่อนดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น และโจทก์ทั้งสิบเจ็ดมีพยานมายืนยันถึงขนาดลำรางดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ลำรางในที่พิพาทมีขนาดความกว้าง ลึก และยาวตามที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดนำสืบ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดเปิดลำรางในที่พิพาทตรงแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เล่มที่ 14 หน้า 154 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 295 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี กว้างประมาณ 2 วา ยาวประมาณ194 เมตร ลึกประมาณ 1 วา โดยให้ลำรางอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองคนละครึ่งหนึ่งนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ร่วมกันขุดเปิดลำรางก็ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดดำเนินการเองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแทนนั้น ไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ และเมื่อกรณีมิใช่เรื่องภารจำยอมก็ไม่ต้องมีการจดทะเบียนภารจำยอม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองนั้น จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนภารจำยอมและคำขอที่ว่า หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถขุดเปิดทางภารจำยอมด้วยตนเองได้ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้กระทำแทนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share