แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจำนวน103,478 บาท จากฝ่ายจำเลยแล้วจึงไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไปถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้ว มีผลเพียงแต่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แต่ความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวหาได้ระงับไปด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์2540 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1884 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการที่นายอำเภอเขาชัยสนออกให้แก่นายเสถียร คงมา โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำรายการสารบัญจดทะเบียนเพิ่มเติมปลอมลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว และเขียนข้อความปลอมลงไปในช่องต่าง ๆ ในสารบัญจดทะเบียนว่า “18 กุมภาพันธ์ 2539 ไถ่ถอน(ขาย) นายเสถียร คงมา นายวรรลบ มณีโชติ (ผู้รับสัญญา)” กับปลอมลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง กำกับลงไปในสารบัญจดทะเบียนดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางอำนวยพร เชาวกุล ผู้เสียหาย นางสาวตรีชฎา คงมา ทายาทของนายเสถียร กรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินอำเภอเขาชัยสน นายอำเภอเขาชัยสนผู้อื่นและประชาชน จำเลยทั้งสองได้กระทำเพื่อให้ผู้เสียหาย และผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง หลังจากนั้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงกู้เงินจำนวน 100,000 บาท จากผู้เสียหาย โดยใช้และอ้างหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปลอมดังกล่าวมอบให้ผู้เสียหายยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว และเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นเป็นเอกสารปลอม ผู้เสียหายหลงเชื่อยอมรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปลอมดังกล่าวไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ และมอบเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองไป ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268, 341, 91, 83 และ 33 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 226(1), 341 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันใช้เอกสารปลอม เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม ทั้งนี้ ฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุก3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบของกลางให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงระงับไปแล้วหรือไม่เห็นว่า หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษา ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจำนวน 103,478 บาท จากฝ่ายจำเลยแล้ว จึงไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1อีกต่อไป ปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้วก็ตาม ก็มีผลเพียงแต่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ตามที่วินิจฉัยแล้วเท่านั้นแต่ความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำนั้นหาได้ระงับไปด้วยไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือรับรองการทำประโยชน์และนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปลอมดังกล่าวไปหลอกลวงกู้เงินผู้เสียหายจำนวนมากถึง 100,000 บาท มีลักษณะเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้เสียหายและกระทบต่อความเชื่อถือของประชาชนผู้สุจริตทั่วไปในการใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นพยานหลักฐาน แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาว่า นางตรีชฎา ทองคำทายาทของนายเสถียร คงมา เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเกิดเหตุในคดีนี้ ไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ปรากฏตามบันทึกแนบท้ายฎีกา และจำเลยที่ 1 เคยประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ มาก่อนก็ตาม แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 เข็ดหลาบ และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น อันจะเป็นการปกป้องสังคมและประชาชนผู้สุจริตจากผู้ที่คิดจะกระทำการเช่นจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นแต่โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเสียจากสารบบความ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 226(1) และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(1) ประกอบมาตรา 83เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมนั้นเองจึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(1) ตามมาตรา 268วรรคสอง จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก6 เดือน ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9