แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้ร้องจะต้องเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะยื่นคำร้องขอต่อศาล และคำสั่งของศาล ที่แสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามคำร้องขอนั้น ก็เป็นเพียงคำสั่งที่รับรองว่าการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องตามที่ได้ครอบครองมาแล้วนั้น เป็นผลให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์แล้ว เพื่อที่ผู้ร้องจะได้นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนสิทธิต่อเจ้าพนักงานที่ดินต่อไปเท่านั้น
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ ๓๖๕๓ ตำบลดอนยาง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๓ ไร่เศษ จากนางอ่วมผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ซื้อแล้วผู้ร้องได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกันเป็นเวลา๕๐ ปีเศษแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินส่วนที่ครอบครองดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒
ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๕๓ เดิมเป็นของนายนาม นางอ่วม ต่อมาตกได้แก่นายฉิ่งซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม และภายหลังนายฉิ่งยกให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ครอบครองมาโดยสงบเปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของมานานเกิน ๑๐ ปีแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ไว้ตามคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๗/๒๕๒๓ คำร้องของผู้ร้องเป็นเท็จ ขอให้พิพากษายกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นภรรยาของนายฉิ่งและได้ร่วมกับนายฉิ่งครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๕๓ มานานหลายปี ผู้คัดค้านที่ ๒จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องไม่เคยเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินดังกล่าวขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท โดยเรียกผู้ร้องว่าโจทก์ เรียกผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทแบบเป็นเจ้าของมาก่อนจนครบ ๑๐ ปีแล้วขายให้จำเลยทั้งสอง ฝ่ายจำเลยจึงได้ครอบครองที่พิพาทขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ จึงหามีสิทธิร้องขอต่อศาลไม่ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องขอของโจทก์เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิทางศาลโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ และ ๑๘๘(๑)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๘ ซึ่งหากผลของการไต่สวนฟังได้ตามคำร้องขอ คำสั่งของศาลที่แสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นเป็นแต่เพียงคำสั่งที่รับรองว่าการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ตามที่ได้ครอบครองมาแล้วนั้น เป็นผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ แล้ว เพื่อประโยชน์แก่การจดทะเบียนสิทธิในที่พิพาทต่อไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๘ เท่านั้น ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๘ มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าโจทก์จะต้องเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ในขณะยื่นคำร้องขอต่อศาลแต่ประการใด ดังนั้น ถ้าโจทก์สามารถนำสืบให้ฟังได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ แล้ว ไม่ว่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลนั้น โจทก์จะได้ครอบครองที่พิพาทอยู่หรือไม่ หากไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้ผู้อื่นต่อไปแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่ได้ครอบครองมา เพื่อโจทก์จะได้นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนสิทธิต่อเจ้าพนักงานที่ดินต่อไป นอกจากนั้นเฉพาะคดีนี้มีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามา อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทกับโจทก์ซึ่งศาลให้ดำเนินคดีต่อไปเป็นคดีมีข้อพิพาทและเป็นคดีมีทุนทรัพย์แล้ว หลังจากนี้โจทก์จำเลยก็จะเป็นคู่ความดำเนินคดีกันต่อไปจนเสร็จสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๘(๔) และถือได้ว่าเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกที่พิพาทจากจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ชนะคดี ศาลอาจพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองด้วยก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๑) ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอต่อศาลและพิพากษาคดีมาโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นในอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีนี้ใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดแล้วมีคำพิพากษาใหม่