แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ที่ว่า ศาลสั่งงดสืบพยานขัดกับข้อเท็จจริงตามรายงานฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 ที่ว่าคู่ความไม่สืบพยาน โดยให้วินิจฉัยจากปากคำพยานเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นอุทธรณ์ฝืนข้อเท็จจริงในสำนวน ส่วนอุทธรณ์อื่นล้วนเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง จึงไม่รับอุทธรณ์โจทก์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีโอกาสนำสืบข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นตามที่กล่าวอ้าง การที่ศาลสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ให้โจทก์ซักค้านในศาลแล้วจดลงในรายงานกระบวนพิจารณาโดยคู่ความไม่ได้ยอมรับการสอบปากคำดังกล่าวว่าได้กระทำโดยชอบหรือไม่ ข้อความที่สอบไว้นั้นถูกต้องชัดแจ้งหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ประเด็นที่ว่าโจทก์โอนลูกจ้างจากบริษัทโจทก์ไปยังอีกบริษัทหนึ่ง เมื่อลูกจ้างยินยอมที่จะโอนไปและให้นับอายุงานต่อเนื่องกันถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างตามฟ้องหรือไม่นั้น ล้วนเป็นข้อกฎหมาย โปรดรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 38)
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่ 161/2543
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 32)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 36)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความ คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารต่อศาลแรงงานกลาง แล้วคู่ความขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากสำนวนโดยคู่ความไม่สืบพยาน ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนแล้ว วินิจฉัยว่าโจทก์โอนนางศรีสมควรกับพวกรวม 120 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 โดยลูกจ้างต้องสมัครงานใหม่และเริ่มนับอายุงานใหม่ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เนื่องจากโอนกิจการให้บุคคลภายนอก จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางสั่งให้งดสืบพยานโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้นั้นไม่ถูกต้อง ความจริงข้อเท็จจริงยังไม่พอที่จะวินิจฉัยคดี หากศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์ต่อไปข้อเท็จจริงก็จะฟังได้ว่า โจทก์โอนลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างใหม่โดยลูกจ้างยินยอมและนับอายุงานต่อเนื่อง จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่าที่โจทก์อ้างว่าศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยนั้น เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในสำนวน และเท่ากับเป็นการโต้เถียงว่าศาลแรงงานกลางไม่ควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวนตามที่คู่ความขอ จึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง อุทธรณ์โจทก์ข้อต่อมาจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง