แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ที่ซื้อที่ดินมีโฉนดมาโดยเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิแล้วมีการรังวัด จึงปรากฎว่าที่ดินส่วนหนึ่งมีคนครอบครองมาเกิน 10 ปีได้กรรมสิทธิ์ทั้งก่อนที่จะซื้อที่ดินแปลงนั้นตนก็รู้ว่าเขาครอบครองที่ดินส่วนนั้นอยู่ ดังนี้ ถือว่า ผู้ซื้อซื้อไว้โดยไม่สุจริต จึงหามีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ที่ครอบครองที่ดินส่วนนั้นจนได้กรรมสิทธิแล้วไม่
ย่อยาว
คดี ๒ สำนวนนี้คู่ความพิพาทกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกัน ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ ๖ ไร่ โจทก์ได้หักล้างถางพงทำให้ที่ดินเกิดประโยชน์มา ๒๕ ปีแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ได้ทำประโยชน์ครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยบุกรุกตัดรั้วด้านใต้และเหนือเข้ามาปักเสาหินตัดตอนที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๖๐ วา ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ ให้จำเลยออกไปและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทอยู่ในโฉนด ๖๕๘ ซึ่งเป็นของนายฮวดและนายเท้งบุตรของจำเลย ซื้อมาจากหม่อมทร ได้ทำหนังสือซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้โจทก์จะอ้างว่าได้ครอบครองมาก็ใช้ยันแก่ผู้ซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้
สำนวนที่สอง โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยในคดีแรก ได้ฟ้องโจทก์ในคดีแรกว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนด ๖๕๘ โดยรับซื้อมาจากหม่อมพร ได้ทำหนังสือซื้อขายและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อ ๑๒ ก.ย.๙๘ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทำการรังวัดแบ่งที่ดินปรากฎว่าจำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์ ๒ ไร่ ๒ งาน ๒๐ วา จึงขอให้ขับไล่
จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาท จำเลยได้ครอบครองเป็นเจ้าของมาช้านานอันมีข้อความทำนองเดียวกับที่ยื่นฟ้องไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านางใช่กิม นายประสานโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒ ให้ยกฟ้องคดีนายฮวดกับพวกเป็นโจทก์
จำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่างว่า นางใช่กิม นายประสานโจทก์ ได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี นายย่งเซ็งกับพวก จำเลยได้มาเช่าที่ดินโฉนด ๖๕๘ ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วได้เห็นนางใช่กิม นายประสานโจทก์ครอบครองที่พิพาทมาก่อนจะซื้อที่ดินโฉนด ๖๕๔ นานแล้ว ถือว่านายย่งเซ็งกับพวกจำเลยเป็นผู้ไม่สุจริต จึงยก ป.พ.พ.มาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒ มาใช้บังคับไม่ได้ พิพากษายืน