คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ระบุระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ก็มิได้ระบุเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเช่นกัน ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อณ ต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี ครบแล้วโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกเป็นเวลา 4 ปีเศษ โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมในการที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกนั้น แม้จะเป็นภาระหนักขึ้นแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแต่ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาและเป็นคนละเรื่องกับการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์จะต้องคืนเงินเดือนเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพที่ตนรับไปให้โจทก์เป็นเงิน 161,863.96 บาทและต้องเสียเบี้ยปรับอีกเท่ากับเงินทั้งหมดที่รับไปกับจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับเงินต้นรวมกับเบี้ยปรับตามสัญญาด้วยนั้น เบี้ยปรับและดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ระบุความเสียหายหรือความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกิน ส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 และเมื่อกำหนดเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 จำนวนที่ 1 รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโท ตำแหน่งอาจารย์โท แผนกวิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โจทก์ได้มีคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกทางวิชาเคมีณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนส่วนตัว (ทุนประเภทสอง) โดยได้รับเงินเดือนเต็มมีกำหนดระยะเวลา 2 ปีก่อน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม2519 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขว่าให้สอบผ่านภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาราชการต่อเพื่ออยู่ศึกษา ณ ต่างประเทศต่อไปอีกรวม 3 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่21 พฤษภาคม 2525 โดยได้รับเงินเดือนเต็มตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม2521 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2524 ส่วนตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2524ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2525 โดยไม่ได้รับเงินเดือน ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้ตกลงยินยอมทำสัญญากับโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1เสร็จการศึกษาแล้วไม่ว่าการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ จำเลยที่ 1สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเห็นเวลาไม่น้อยกว่าสอบเท่าของเวลาที่ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดีจำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่ได้รับจากทางราชการในระหว่างที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาและจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินที่ต้องชดใช้คืน และในกรณีที่จำเลยที่ 1 รับราชการบ้างแต่ไม่ครบเวลาตามสัญญา เงินที่จะชดใช้คืนและเบี้ยปรับจะลดลงตามส่วนของเวลาที่รับราชการ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระเงินที่จะชดใช้คืนและเงินเบี้ยปรับให้ทั้งหมดภายในกำหนด 30 วันถัดวันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในกำหนดหรือชำระให้แต่ไม่ครบ ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระอีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย ในการทำสัญญาดังกล่าวนั้น มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1ผิดสัญญาดังกล่าวด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าวทั้งสิ้นทุกประการ จำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิชาเคมีณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2519 จนถึงวันที่24 มิถุนายน 2525 รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาเป็นเวลา 6 ปี 1 เดือน 6 วัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2519 จนถึงวันที่20 พฤษภาคม 2524 รวมเป็นเงิน 184,442.89 บาท และไม่ได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2524 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2525เมื่อจำเลยที่ 1 เสร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับราชการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์ หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรไม่น้อยกว่า 12 ปี 2 เดือน 12 วันแต่ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยที่ 1 เสร็จการศึกษาและโจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม และจำเลยที่ 1 เข้ารับราชการตามคำสั่งตั้งแต่วันที่25 มิถุนายน 2525 จนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2526 รวมเป็นเวลา1 ปี 5 เดือน 25 วัน แล้วจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ถูกไล่ออกจากราชการ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงรับราชการไม่ครบเวลาตามสัญญา คงขาดไปเป็นจำนวนรวม 10 ปี 8 เดือน 17 วัน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้เงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพและเบี้ยปรับเมื่อลดส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1รับราชการไปบ้างแล้ว คงเหลือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพและเบี้ยปรับ เมื่อลดส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1รับราชการไปบ้างแล้วคงเหลือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืน 161,863.96 บาท และเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินที่ต้องชดใช้คืน รวมเป็นเงิน 323,727.92 บาท ให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วยและเงินจำนวนนี้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1จึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 323,727.95บาท นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2527 จนถึงวันฟ้องคำนวณเป็นดอกเบี้ยได้ 102,306.89 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 426,032.81บาท และได้ทวงถามจำเลยที่ 2 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 426,034.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน323,727.92 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องเป็นสัญญาปลอม จำเลยที่ 2 ไม่เคยให้สัญญากับโจทก์ที่จะให้คำยินยอมรับผิดชอบในกรณีโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1ฝ่ายจำเลยปลอมเอกสารเติมข้อความด้วยตัวพิมพ์ดีดลงไปเองเพื่อนำมาผูกมัดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันการที่โจทก์ออกคำสั่งต่อระยะเวลาในการศึกษาต่อของจำเลยที่ 1ในต่างประเทศออกไปอีกหลายครั้งนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมผูกพันต่อการผ่อนเวลาชำระหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดในการค้ำประกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามที่กล่าวในฟ้องการคำนวณเงินค่าเสียหายไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่เคยเตือนให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 323,727.92 บาทแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเฉพาะ 2 ปีสำหรับการลาไปศึกษาของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1 มีกำหนด 2 ปี โดยคำนวณจากการผิดสัญญา 2 ปีแรก กับค่าปรับอีก 1 เท่าตัวเป็น 4 ปีและนำเอาระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้กลับมารับราชการ 1 ปี 5 เดือน25 วัน หักออกคงเหลือระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 5 วัน โดยให้โจทก์และจำเลยที่ 2 คำนวณจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้โจทก์ร่วมกัน แล้วให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินต่อโจทก์ตามจำนวนนั้น ส่วนที่โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยนั้นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า นอกจากเงินต้น 323,727.92 บาทแล้ว ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอีกอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแทน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปีตามเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาไว้กับโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 นั้น เป็นการทำสัญญามีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนคือ 2 ปี เอกสารหมาย จ.2 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 จึงเป็นการค้ำประกันมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น การที่โจทก์ขยายเวลาศึกษาต่อให้จำเลยที่ 1 ออกไปอีก 4 ปีเศษ โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์นั้นระบุเพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศด้วยทุนประเภท 2 (ส่วนตัว) เมื่อจำเลยที่ 1 เสร็จการศึกษา จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะรับราชการกับโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือที่ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่กลับมารับราชการ จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนให้แก่โจทก์ซึ่งทุนและหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากทางราชการในระหว่างที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา นอกจากนี้จำเลยที่ 1 จะจ่ายเป็นเงินเบี้ยปรับให้โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน ในกรณีที่จำเลยที่ 1 รับราชการบ้างแต่ไม่ครบเวลาดังกล่าว เงินที่จะชดใช้คืนและเบี้ยปรับจะลดลงตามส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการไปบ้างและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ก็ระบุเพียงว่า ตามที่จำเลยที่ 1ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ทำสัญญาไว้ต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ทราบและเข้าใจข้อความในสัญญาดังกล่าวแล้วจึงขอทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาดังกล่าวด้วยประการใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าวทั้งสิ้นทุกประการตามเอกสารหมาย จ.6 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวเห็นได้ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ระบุระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ก็มิได้ระบุเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเช่นกัน ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเป็นเวลา2 ปี ครบแล้วโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกเป็นเวลา4 ปีเศษ โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมในการที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกนั้น แม้จะเป็นภาระหนักขึ้นแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน แต่ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาและเป็นคนละเรื่องกับการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอลดค่าเสียหายและขอไม่เสียดอกเบี้ยนั้นสำหรับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์จะต้องคืนเงินเดือนเงินเพิ่มค่าครองชีพที่ตนรับไปให้โจทก์เป็นเงิน 161,863.93 บาทและต้องเสียเบี้ยปรับอีกเท่ากับเงินทั้งหมดที่รับไปกับจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีสำหรับเงินต้นรวมกับเบี้ยปรับตามสัญญาด้วยนั้น เบี้ยปรับและดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ระบุความเสียหายหรือความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันจำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของจำเลยที่ 1และประโยชน์อันจะพึงมีแก่โจทก์โดยส่วนรวมแต่ฝ่ายเดียว จึงมีเหตุผลที่ควรได้รับความเห็นใจเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเห็นสมควรลดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง คงเหลือเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 80,931.98 บาทเมื่อกำหนดเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอีก รวมเงินที่จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 242,795.94 บาท เงินเดือนเงินเพิ่มค่าครองชีพและเบี้ยปรับเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาโดยจำเลยที่ 2 ผู้เดียวฎีกา ก็เป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกกันมิได้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับผลเป็นคุณด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินจำนวน 242,795.94 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share