คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมาโดยทางมรดก แม้จะยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ในโฉนด ที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตนก็ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของสามยทรัพย์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์ให้เปิดทางภารจำยอมได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าทางพิพาทตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของที่ดินโจทก์จำเลยกว้างยาวเพียงใด ทั้งมีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องด้วย เป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดแล้ว ไม่เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินมีโฉนดสองแปลง โดยโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่มารดาของโจทก์ ด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงเป็นที่ดินของจำเลย ระหว่างที่ดินทั้งสามแปลงนี้เป็นทางซึ่งชาวบ้านบริเวณนั้นและโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู้ถนนสาธารณะซึ่งอยู่ทางทิศใต้ติดต่อกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยายจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 50-60 ปี โจทก์มีอาชีพเลี้ยงสุกร ได้ใช้ทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสุกรและอาหารสุกรด้วยรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หกล้อตลอดมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ทางดังกล่าวจึงตกเป็นทางภาระจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 จำเลยได้ปลูกคอกสุกรและปักเสาไม้แก่นหลังคาคอกสุกรบางส่วน และสาไม้แก่นรุกล้ำทางดังกล่าวทำให้ไม่สะดวกในการใช้ตามปกติ เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทางดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความ และให้จำเลยรื้อถอนเสาไม้แก่นที่นำมาปัก 3 ต้นออกไป
จำเลยให้การว่า ทางที่มีอยู่ชาวบ้านรวมทั้งโจทก์เพียงแต่ได้อาศัยเดินผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะมาไม่ถึง 10 ปี จำเลยได้ปลูกคอกสุกรมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี หลังคาไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในทางโจทก์นำรถยนต์บรรทุกสินค้าแล่นเข้ามาชนหลังคาคอกสุกรจำเลยหักจำเลยไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วนำเสามาปักเพื่อกันมิให้รถยนต์ชนหลังคาคอกสุกร โจทก์จะเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินแทนที่มารดาโจทก์หรือไม่จำเลยไม่รับรอง โจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองมิใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคำฟ้องมิได้บรรยายว่า ทางภารจำยอมอยู่ตรงส่วนไหนของที่ดินที่เป็นของใครบ้างเป็นเนื้อที่เท่าไร และอยู่ในที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยหรือไม่ เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่เจ้าของ หากแต่ที่ดินดังกล่าวมีชื่อนางลำใย ชาญปรีชา ยายของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยทางอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้จำเลยรื้อถอนเสาไม้ และเสาปูนรวม 3 ตัน ที่นำมาปิดออกไปภายในกำหนด15 วัน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาเป็นประเด็นข้อแรกว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินเท่านั้น มิใช่เจ้าของสามยทรัพย์อันจะฟ้องให้ทางพิพาทเป็นภารจำยอมได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทซึ่งเดิมเป็นของนางลำใยยายของโจทก์ และมีนายปรีชาจิตรโภคาบำรุง ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่พิพาทตั้งอยู่เบิกความว่าที่พิพาทที่โจทก์ครอบครองนี้เป็นของมารดาโจทก์ มารดาโจทก์ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว โจทก์ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรมา 20 ปีแล้ว ส่วนจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งยังนำนางบุญเจือ ชาญปรีชา ซึ่งเป็นหลานของนางลำใย (หลานย่า) ญาติของโจทก์มาเบิกความว่าพยานเคยมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่พิพาทกับโจทก์และมีการฟ้องคดีโดยโจทก์ร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางลำใย พยานจึงไปคัดค้านศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นมรดกของนางลำใยอันเป็นการเจือสมกับพยานโจทก์ฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมรดกของนางลำใย ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นหลานของนางลำใยจึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางลำใย โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยทางมรดก แม้โจทก์ยังมิได้เปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์ให้เปิดทางภารจำยอมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อต่อมา จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินจำเลยหรือไม่ และอยู่ในที่ดินจำเลยกว้างยาวเท่าใด ปัญหานี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ฯลฯ ระหว่างที่ดินทั้งสามแปลงนี้เป็นทางซึ่งชาวบ้านบริเวณนั้น และบรรดาผู้ที่อยู่อาศัยทางด้านทิศเหนือของทางรวมประมาณ 7-8 ครัวเรือน และโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออก ฯลฯ ทางดังกล่าวมีความยาวประมาณ 100 เมตรกว้างประมาณ 2 เมตรเศษ ฯลฯ ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องซึ่งตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องทางพิพาทกว้างประมาณ 2.80 เมตร ยาว100 เมตร หรือผ่านที่ของจำเลยตลอดทั้งแปลงไปจดที่ดินของนายลือดังนั้นที่จำเลยว่าโจทก์มิได้บรรยายว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินจำเลยหรือไม่ กว้างยาวเท่าใด จึงไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมดังจำเลยฎีกาแต่ประการใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share